SMEs โดนพิษค่าแรงเจ๊งนับร้อยราย

สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทยวอนรัฐฯ อย่าทอดทิ้ง ยื่นมือช่วย SMEs ส่งออก หลังกระทบหนักค่าแรง 300 บาท ควบวิกฤตหนี้ยุโรป เผยเอสเอ็มอีทยอยปิดตัวแล้วกว่า 100 ราย โต้รัฐฯ ขึ้นค่าแรงแบบไม่เป็นมวย ควรทำเป็นขั้นตอน คาดตัวเลขส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ปีนี้จะอยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นายสุพัฒน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทยที่ประกอบด้วย 7 สมาคมพันธมิตร นอกจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน แล้ว ล่าสุดยอมรับว่าผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายต้องลดขนาดองค์กร และกำลังการผลิต รวมถึงมีการปิดกิจการแล้วกว่า 100 รายจาก 3,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคส่งออก

บีโอไอสรุปยอดขอลงทุน ปี 55 พุ่ง 1.4 ล้านล้าน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง ภาพรวมการลงทุน ในปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ว่า มีนักลงทุนมาขอยื่นรับส่งเสริม จำนวน 2,582 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่า มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ และตั้งแต่มีการจัดตั้ง บีโอไอ โดยจำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับปี 2554 มี 1,990 โครงการ ส่วนด้านมูลค่าเงินลงทุน เพิ่มร้อยละ 131 เมื่อเทียบกับปี 2554 มีมูลค่าลงทุน 634,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 61.6 หรือ 348,866 คน โดยประเทศที่มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่น

รัฐเปิดโครงการ "แรงงานในโรงเรียน โรงเรียนในโรงงาน"

ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการ “แรงงานในโรงเรียน โรงเรียนในโรงงาน” ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานใน จ.นครปฐม กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม หอการค้าจังหวัดนครปฐม สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนครปฐม ศูนย์ประสานงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการร่วมกันเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ด้านแรงงาน รับรู้สิทธิ หน้าที่ด้านต่างๆ อย่างถูกต้องก่อนเข้าทำงานในสถานประกอบการ

ม.หอการค้าไทยคาดปี 56 ส่งออกเจองานหิน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2556 โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยยังไม่ดีนัก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.1-7.2 % หรือคิดเป็นมูลค่า 238,175-246,685 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กสิกรไทยประเดิมย่างกุ้งกรุยทางปั้น "อาเซียนแบงก์"

นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้พัฒนาเครือข่ายการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็นอาเซียนแบงก์(Asian Bank) ล่าสุด ธนาคารได้เปิดสำนักงานผู้แทนกรุงย่างกุ้งประเทศพม่า อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการแก่ลูกค้านักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุน หรือต้องการหาตลาดใหม่เพื่อส่งสินค้าไปยังประเทศพม่า ด้วยบริการข้อมูลและคำปรึกษาแบบครบถ้วนสมบูรณ์ ณ จุดเดียว (One Stop Service) ทั้งเรื่องการตลาดเชิงลึกข้อมูลการค้าการลงทุน กฎหมาย เครือข่ายธุรกิจที่สำคัญต่างๆ

คลังเลือกชลบุรีนำร่องคลินิกภาษี

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการคลินิกภาษี ซึ่งเป็นนวัตกรรมการรูปแบบใหม่ในการให้บริการความรู้ด้านภาษีผ่านระบบออนไลน์ ONE STOP SERVICE โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านภาษีอากร 3 กรม ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และ กรมสรรพสามิต มาไว้ ณ จุดเดียว เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ สะดวก รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ และพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องในพื้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการคลินิกภาษีได้ที่ http://taxclinic.mof.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง

เอกชนชี้ ครม.อนุมัติแผนเยียวยาต้นทุนเพิ่มแค่ 1%

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2555 นี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จะพิจารณามาตรการชดเชยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานรับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่นตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น, การปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมจาก 5%เหลือ 2% และลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการเหมาช่วงการผลิต จาก3% เหลือ 1-1.5% เป็นต้น แนวทางทั้งหมดจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เอสเอ็มอี 6-7%

เวียดนามเปิดแผนหนุน SME ชี้ธุรกิจไทยน่าลงทุน

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเบื้องต้น (GDP) ของเวียดนาม มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 41.1% รองลงมาคือ จากภาคธุรกิจบริการ 38.3% และภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วน 20.6% ตามลำดับ และแม้ว่าเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (General Statistics Office : GSO) ก็รายงานว่า ในปี 2555 นี้ เวียดนามมีแนวโน้มที่จะเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 เกินดุลการค้าแล้ว 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับอานิสงส์จากมูลค่าส่งออกสินค้าไฮเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติรายใหญ่

พาณิชย์วาง 8 ภารกิจหนุนผู้ประกอบการไทย

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนในการผลักดันการส่งออกสำหรับปี 2556 โดยเน้นเป้าหมายใน 8 ภารกิจหลัก เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทย โดยมีแผนที่จะดำเนินการชัดเจน และต้องการให้ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของไทย (HTAs) ช่วยกันทำงานเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว