แบงก์รัฐปรับทิศเบนเข็มปล่อยกู้รายย่อย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงแผนการปรับบทบาทและเพิ่มประสิทธิภาพสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ แบงก์รัฐว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ การวางบทบาทแบงก์รัฐแต่ละแห่งให้มีความชัดเจน การปรับการกำกับดูแลแบงก์รัฐแต่ละแห่งให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินการของแบงก์รัฐนั้นๆ และการเพิ่มช่องทางให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้มากขึ้น

 

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงแผนการปรับบทบาทและเพิ่มประสิทธิภาพสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ แบงก์รัฐว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ การวางบทบาทแบงก์รัฐแต่ละแห่งให้มีความชัดเจน การปรับการกำกับดูแลแบงก์รัฐแต่ละแห่งให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินการของแบงก์รัฐนั้นๆ และการเพิ่มช่องทางให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้มากขึ้น

สำหรับการกำหนดบทบาทของแบงก์รัฐในแต่ละแห่ง ด้านกฎหมายการจัดตั้งของแบงก์รัฐแต่ละแห่งมีความชัดเจนอยู่แล้ว จะเน้นไปในเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับฐานรากทั้งบุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยมากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์

ด้านการปรับการกำกับดูแลแบงก์รัฐที่ผ่านมานั้นได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรวจสอบ โดย ธปท. ได้ใช้เกณฑ์การตรวจสอบมาตรฐานเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแบงก์รัฐมีแนวทางการทำงานไม่ได้หวังผลกำไรเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นการปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐ ทำให้ผลประกอบการของแบงก์รัฐที่ผ่านมาหลายแห่งมีปัญหาเมื่อ ธปท. เข้าไปตรวจสอบ

ดังนั้นคลังจะปรับการกำกับดูแลตรวจสอบใหม่โดยให้ ธปท. เป็นผู้ตรวจสอบให้เหมือนเดิม แต่จะมีการขอให้ใช้มาตรการฐานที่คลังจะเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง เช่น เงินกองทุนขั้นต่ำที่มาตรฐานกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 8.5 เท่า ในส่วนของแบงก์รัฐก็อาจจะขอให้ต่ำกว่า 8.5 เท่าก็ได้ หรือการสำรองเงินสงสัยหนี้สูญอาจจะไม่ต้องสำรองทั้งหมด ให้สำรองเป็นบางส่วน ซึ่ง สศค. อยู่ระหว่างกำหนดตัวเลขที่ชัดเจน จะทำให้การดำเนินงานของแบงก์รัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนการกำกับดูแลไม่ได้ทำให้สถานะของแบงก์รัฐอ่อนแอ หรือมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต แต่คิดว่าเมื่อแบงก์รัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น จะทำให้การขยายสินเชื่อได้มากและมีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้น

ส่วนการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่ผ่านมา แบงก์รัฐได้มีความร่วมมือเรื่องการใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกันในอนาคต สศค. ต้องการให้มีการช่วยเหลือด้านเงินทุนมากขึ้น โดยจะให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ระดมทุนดอกเบี้ยต่ำปล่อยกู้ให้กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ต่อ เพราะที่ผ่านมาแบงก์รัฐดังกล่าวต้องไประดมเงินกู้ในตลาดในอัตราดอกเบี้ยสูง ก็ต้องไปปล่อยกู้ลูกค้าในอัตราที่ดอกเบี้ยสูง ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด

NEWS & TRENDS