เอ็นไอเอพาเปิดโลกคนวัยเก๋า กับ 6 โซลูชันช่วยให้ไลฟ์สไตล์ดีรอบด้าน พร้อม 2 นวัตกรรมช่วยฟิตชีวิตวัยเกษียณ 

     เพิ่งผ่านพ้นสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยหลายคนได้ออกมาเล่นน้ำกันอย่างชุ่มฉ่ำอีกครั้ง รวมถึงวันสำคัญอย่าง “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” (13 เมษายน ของทุกปี) ที่ในปีนี้มีตัวเลขและสถิติที่คนไทยต้องตระหนักถึงการเตรียมรับมือกับการก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาวมากกว่า 60+ มากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้อาจนำมาถึงปัญหาสำคัญ เช่น การขาดแคลนแรงงาน สวัสดิการทางสังคม ระบบสาธารณสุข รูปแบบการใช้ชีวิต การเงิน  ฯลฯ และเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA” หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติจึงมีแนวทางรับมือความท้าทายของสังคมสูงวัยด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการ – สตาร์ทอัพให้สร้างนวัตกรรมที่ช่วยรังสรรค์จักรวาลของคนวัยเก๋าให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น และยกระดับให้ไทยเป็นหมุดหมายของประเทศที่มีการรองรับสังคมสูงวัยที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต

 6 โซลูชั่นสร้างจักรวาล "คนวัยเก๋า" ให้พร้อม “เก๋า” ไปกับทุกบริบท

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้มุ่งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุใน 6 ด้าน เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของไทย ได้แก่

     นวัตกรรมด้านการเงินและการจ้างงาน ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงโอกาสทางอาชีพและมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชัน (สร้าง-จ้าง) งานวัยเก๋า "ขิง" แพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างอาชีพหลังเกษียณตามความถนัดของแต่ละบุคคล ด้วยการจับคู่ระหว่างผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ

     นวัตกรรมด้านสุขภาพกาย ที่เน้นการใช้ชีวิตแบบ “สูงวัยที่บ้าน” ด้วยการมีส่วนร่วมของครอบครัว การหมั่นดูแลผู้สูงอายุ รักษาเมื่อยามเจ็บไข้ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เช่น Life Guard V: ผ้าอ้อมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถตรวจความเป็นกรด - ด่างของปัสสาวะ เพื่อดูแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และสามารถย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ หรือ โครงการรักษาทางไกลเพื่อผู้สูงอายุ บริการการแพทย์ทางไกลราคาถูก โดยสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์กับแพทย์หลากหลายสาขาได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และบริการจัดส่งยาถึงบ้าน

     นวัตกรรมด้านสุขภาพทางปัญญา เครื่องมือหรือบริการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยบริหารระบบความจำให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อลดความเสี่ยงในความบกพร่องทางสติปัญญา การแยกตัวทางสังคม และผลลบด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น Tribemix ของประเทศอังกฤษ ที่นำเอาเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมให้สงบและปรับปรุงสภาวะเชิงอารมณ์

     นวัตกรรมด้านสังคมสูงวัย เพื่อลดความโดดเดี่ยวทางสังคม ให้ได้สัมผัสกับวิถีแห่งความสุข สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ เพราะความเหงา ความซึมเศร้า และความวิตกกังวลสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

     นวัตกรรมด้านการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทางและการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับผู้สูงอายุ นวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ดี หรือสะดวกในการเดินทางเป็นการเพิ่มคุณค่า ความมั่นใจ และความเป็นอิสระของผู้สูงอายุ เช่น “Go Mamma” แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งสำหรับผู้สูงอายุ ที่ให้บริการการเดินทางของผู้สูงอายุมีความสะดวกสบายและปลอดภัยด้วยระบบติดตามรถ พร้อมระบบแจ้งเตือนในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีผู้ดูแลให้บริการหากต้องการ และ

     นวัตกรรมด้านการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นการชักจูงให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นมาทำกิจกรรมมากขึ้น ลดโอกาสเข้าสู่ภาวะอาการติดเตียง เช่น โครงการธนาคารเวลาสำหรับสะสมเวลาความดีเพื่อแลกบริการให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุลุกมาทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมในด้านต่าง ๆ แล้วนำเวลาความดีที่สะสมไว้มาแลกเป็นของรางวัลและบริการที่เหมาะสม

รถรับส่งผู้สูงวัย “Go Mamma” พร้อมเคียงข้างรุ่นใหญ่ทุกการเดินทาง

     ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่บุตรหลานในวัยแรงงานมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุจึงขาดคนดูแลและต้องพึ่งพาตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น พบแพทย์ พบปะเพื่อน ทำกิจกรรมสันทนาการ ซื้อของ แต่มาตรฐานการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะไม่เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุ บริษัท บางกอกแนนนี่ เซ็นเตอร์ จำกัด จึงได้พัฒนา “แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งสำหรับผู้สูงอายุ: Go Mamma” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการที่ช่วยให้การเดินทางของผู้สูงอายุมีความสะดวกสบายและปลอดภัย ด้วยระบบติดตามรถ พร้อมระบบแจ้งเตือนในกรณีฉุกเฉิน โดยนำแท็กซี่ที่มีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมเดินทางสาธารณะ มาออกแบบต่อยอดเป็นนวัตกรรมการบริการรับ-ส่ง เพื่อให้เหมาะกับข้อจำกัดของผู้สูงอายุ และตอบโจทย์ความกังวลของลูกหลาน ด้วยคุณภาพระบบการจัดการ และลดค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นที่มีความปลอดภัย ตั้งแต่การคัดเลือกผู้ขับขี่ อบรมการบริการ ระบบติดตามการเดินทาง การจองและจ่ายเงินที่สะดวก มีบริการผู้ดูแลติดตาม โดยมุ่งเป้าที่ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เดินได้ด้วยตนเองหรือมีอุปกรณ์ช่วยพยุงต้องการเดินทางแต่ขาดคนพาไป คาดว่ามีประมาณ 800,000 คน

      “Go Mamma” เป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐานในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีโอกาสแสดงศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพตนเอง สามารถดูแลตนเองได้ ในขณะเดียวกันลูกหลานก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติและมีส่วนร่วมในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นการสร้างสังคมที่เชื่อมโยงความรู้สึกระหว่างกลุ่มคนที่มีอายุคนละช่วงวัยผ่านนวัตกรรมการเดินทาง ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าทอดทิ้ง”

 "ขิง" แอปฯ จับคู่วัยเกษียณมีไฟกับงานที่ใช่ “ได้เพื่อน ได้สังคม ได้เงิน”

     จากสภาวะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั่วโลก ส่งผลให้รัฐบาลและเอกชนในหลายประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างและขยายฐานการจ้างงานให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยการออกกฎหมายที่ส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการออกกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมให้บริษัทเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุในด้านการขยายฐานการจ้างงานแก่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นแนวทางที่จะมีบทบาทอย่างมากในสังคมแห่งอนาคต จากแนวทางดังกล่าว ส่งเสริมให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ภูพานซอฟต์ ไอทีโซลูชั่นส์ จัดทำโครงการ "ขิง" แอปพลิเคชัน (สร้าง-จ้าง) งานวัยเก๋า ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างอาชีพหลังเกษียณตามความถนัดของแต่ละบุคคล ด้วยการจับคู่ระหว่างกลุ่มผู้สูงวัยที่มีศักยภาพที่จะถูกจ้างงานกับผู้ที่ต้องการจ้างงาน ทั้งภาคเอกชน บริษัทห้างร้าน หน่วยงานของรัฐ หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ด้วยกระบวนการทางสังคม วัฒนธรรม และการสร้างเนื้อหา

     เริ่มต้นจากการคัดเลือกตัวแทนของผู้สูงอายุที่มีเนื้อหาด้านสังคมและวัฒนธรรม กลุ่มทักษะการสอน เช่น ดนตรี อาหาร วาดภาพ กลุ่มทักษะงานฝีมือ เช่น งานศิลปหัตถกรรม ทอผ้า กลุ่มขายของและบริการ เช่น นวดแผนโบราณ ขายขนมหรือของสะสม และกลุ่มที่ปรึกษา เช่น กฎหมาย การแพทย์ และวิชาชีพ มาเป็น King Ginger เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันเอง นำไปสู่กระบวนการการแบ่งกลุ่มทักษะ และจำแนกประเภทงานของผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของผู้สูงอายุ เฉลี่ย  6,000 – 9,000 บาทต่อเดือนแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้สูงอายุได้สร้างคุณค่าให้กับตนเอง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุ และลดโอกาสการเกิดภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup

NEWS & TRENDS