กกร.นัดหารือช่วย SMEs สู้บาทแข็ง-ขึ้นค่าแรง

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดประชุมหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงิน และผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ

 


คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดประชุมหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงิน และผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สอท.กล่าวว่า ในการประชุม กกร. จะหารือในประเด็นหลักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยการแข็งค่าของเงิน และการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงได้สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคธุรกิจไทยอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มขนาดกลาง และขนาดย่อย (เอสเอ็มอี)เพราะหากไม่เร่งแก้ปัญหาเชื่อว่าไม่นานลูกค้าต่างชาติจะยกเลิกคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากไทยแล้วหันไปซื้อจากเพื่อนบ้านแทน หากผู้ส่งออกไทยขอปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

“ปัจจัยเสี่ยงค่าบาท และค่าแรงทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องขอปรับราคากับลูกค้าต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็ถูกปฏิเสธ แต่หากยังคงราคาเดิมก็ทำให้ผู้ประกอบการยิ่งขาดทุนมากขึ้น ซึ่งผลของการต่อรองเรื่องราคากันไม่ได้ ทำให้ในตอนนี้มีลูกค้าหลายรายหันไปซื้อสินค้าจากเพื่อนบ้านที่ถูกกว่าไทยอย่าง จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชาและอินเดีย เป็นต้น เพราะนอกจากต้นทุนการผลิตต่ำและการแข็งค่าของค่าเงินยังน้อยกว่าไทย”

นายวัลลภ กล่าวว่า เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 300 บาทนั้น สอท. จะเสนอแนวทางการช่วยเหลือแบบยาแรงในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพราะมาตรการที่รัฐบาลออกมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เบื้องต้นจะนำประเด็นเรื่องของการจัดตั้งกองทุนในการจ่ายเงินส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการ แต่จะเพิ่มเงื่อนไขให้รัฐบาลจ่ายงบประมาณน้อยที่สุด เช่น กำหนดการช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ แบบขั้นบันได หากผู้ประกอบการกลุ่มใดต้นทุนสูงไม่เกิน 5% ไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่หากอยู่ระดับ 5-10% จะให้ช่วยเหลือระดับหนึ่ง และ ต้นทุนเกิน 10% ก็จะให้การช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่น เป็นต้น

นอกจากนี้จะร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร่วมกันเบื้องต้นต้องการให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพมากขึ้นโดยเน้นภาคปฏิบัติให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐเน้นให้ความรู้และทฤษฎีเป็นหลัก

ส่วนเรื่องของค่าเงินบาทนั้น กกร. จะร่วมกันหามาตรการเพิ่มเติมที่จะนำไปเสนอให้ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือ หลังจากที่ผ่านมาตัวแทนของ สอท. ได้เข้าพบ ธปท. มาแล้วเบื้องต้น เอกชนต้องการให้ธปท.เกาะติดสถานการณ์ค่าเงินประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกของไทย 13 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ รวมถึง จีน, อินเดีย,ศรีลังกา และ บังกลาเทศ เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีการส่งออกสินค้าในลักษณะที่คล้าย และตลาดระดับใกล้เคียงกับไทย

NEWS & TRENDS