ตรวจพบเอสเอ็มอี 209 แห่งเมินจ่ายค่าแรง 300 บาท

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556 หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท พนักงานตรวจแรงงานของ กสร.ได้ออกตรวจสถานประกอบการใน 70 จังหวัด จำนวน 8,114 แห่ง ลูกจ้าง 360,808 คน พบว่า มีสถานประกอบการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท จำนวน 209 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.58 ของสถานประกอบการที่ตรวจทั้งหมด และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบจำนวน 6,211 คน คิดเป็นร้อยละ 1.72 ของจำนวนลูกจ้างที่ตรวจทั้งหมด

 


นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556 หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท พนักงานตรวจแรงงานของ กสร.ได้ออกตรวจสถานประกอบการใน 70 จังหวัด จำนวน 8,114 แห่ง ลูกจ้าง 360,808 คน พบว่า มีสถานประกอบการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท จำนวน 209 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.58 ของสถานประกอบการที่ตรวจทั้งหมด และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบจำนวน 6,211 คน คิดเป็นร้อยละ 1.72 ของจำนวนลูกจ้างที่ตรวจทั้งหมด

อธิบดีกสร. กล่าวอีกว่า สถานประกอบการที่ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1-99 คน โดยเป็นสถานประกอบการประเภทการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน 82 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 39.23 รองลงมาเป็นประเภทการผลิต 40 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.14 กิจการบริการ อสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ 24 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.48 โรงแรมและภัตตาคาร 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.53 ก่อสร้าง 19 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 9.09 และประเภทอื่นๆ 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.53

“จากผลตรวจสถานประกอบการข้างต้น ส่วนใหญ่สถานประกอบการปรับขึ้นค่าจ้าง มีสถานประกอบการที่ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างและลูกจ้างได้รับผลกระทบจำนวนน้อย ส่วนการดำเนินการกับสถานประกอบการที่ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างนั้น พนักงานตรวจแรงงานได้ให้คำแนะนำให้ดำเนินการให้ถูกต้อง 110 แห่ง ออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามกฎหมาย 97 แห่ง และเชิญพบ 2 แห่ง ยังไม่มีการดำเนินคดีกับสถานประกอบการที่ไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม หากสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็จะเอาผิดตามมาตรา 144 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายปกรณ์ กล่าว

อธิบดีกสร. กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีนายจ้างและลูกจ้างสมยอมกันไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง ถ้าพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ตรวจพบและไม่มีการร้องเรียนจากลูกจ้าง ก็ไม่สามารถไปเอาผิดตามกฎหมายกับสถานประกอบการได้ แต่หากเกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและมีการร้องเรียนภายหลัง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับย้อนหลัง 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ถ้าไม่จ่ายกสร.จะเอาผิดทางอาญากับนายจ้าง จึงขอเตือนนายจ้างให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามกฎหมาย

NEWS & TRENDS