ส.อ.ท.ชี้ SMEs แบกทุนไม่ไหวไตรมาส 2 ขอขึ้นราคา

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมปรับราคาสินค้าในประเทศขึ้น ตามภาระต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งภาระค่าแรงดังกล่าวยังส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้น

 


นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมปรับราคาสินค้าในประเทศขึ้น ตามภาระต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งภาระค่าแรงดังกล่าวยังส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้น

“คาดว่าจะอยู่ที่ 10-15% และคงปรับขึ้นในสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับการใช้แรงงาน โดยเป็นสินค้าที่ใช้แรงงานมาก อาจจะปรับขึ้นได้ถึง 15% โดยการปรับเป็นไปได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ขึ้นราคาในปริมาณสินค้าเท่าเดิม 2.ทั้งขึ้นราคาและลดปริมาณ และ 3.ลดปริมาณลงและขายในราคาเท่าเดิมที่ผ่านมาไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ แต่รอบนี้กระทรวงพาณิชย์คงเข้าใจ เพราะอัตรา 10-15% เป็นระดับที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป”

“ผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงมาก และคิดว่าไม่ไหวยังไงก็ต้องดิ้นรนปรับสินค้าขึ้นซึ่งผมคิดว่ายังมีอยู่อีกระดับหนึ่งแม้ที่ผ่านมาได้ขึ้นราคาไปบ้างแล้วแต่ยังไม่มากพอกับภาระที่เพิ่มขึ้น และถ้ารายใดขึ้นไม่ได้แต่ต้นทุนรับไม่ไหวอันนี้ก็ต้องยอมรับสภาพว่าจะต้องปิดตัวไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)

“รัฐเองก็จะต้องควบคุมสินค้าที่เป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิต อะไรที่ไม่ใช่ก็ต้องปล่อยเขาปรับขึ้น และควรดูว่ารายจ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงเทียบกับสินค้าแล้วอะไรสูงกว่ากัน ถ้าสินค้าสูงกว่าก็ควรจะเข้าไปควบคุมราคาด้วย”นายวัลลภ กล่าว

สำหรับผลกระทบค่าแรง 300 บาทต่อวัน คาดว่าปลายไตรมาส 2  จะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมากน้อยเพียงใด  เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ และแต่ละรายเองก็พยายามจะประคองให้อยู่รอดแต่บางรายที่ปิดกิจการไปแล้วก็พบว่ามีพอสมควรแต่ภาพรวมส่วนใหญ่มีปัญหาขาดทุนสะสมก่อนหน้าพอมีค่าแรงขึ้นจึงผลักดันให้ต้องปิดกิจการทันที

ด้าน นายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีไตรมาสแรกที่ปิดกิจการมีให้เห็นกันไปพอสมควรแล้วแต่คิดว่าภาพจะชัดเจนมากขึ้นไปเรื่อยๆ จากนี้ไปคงจะต้องติดตามใกล้ชิด ดังนั้นอยู่ที่ภาครัฐว่าจะสามารถเข้ามาเยียวยาเอสเอ็มอีเหล่านี้ได้ทันเหตุการณ์หรือไม่ ซึ่งภาพรวมพบว่าภาระต้นทุนรวมเอกชนสูงขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งวัตถุดิบที่ราคาแพงขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตร ค่าแรง จึงมีโอกาสที่จะผลักดันให้ภาคการผลิตต้องดิ้นทุกทาง และที่สุดก็จะหนีไม่พ้นการปรับขึ้นสินค้า ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เชื่อว่าการขึ้นราคาสินค้าในไตรมาส 2 บางประเภทจะยังมีให้เห็นอยู่

นายทวี ปิยพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท.กล่าวว่า ส่วนของอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหนักสุด ต้นทุนค่าแรง และบาทแข็งก็เข้ามากระทบภาพรวมทำให้ไทยไม่สามารถปรับราคาสินค้าต่างประเทศได้และตลาดในประเทศจึงแข่งขันสูงการขึ้นราคายังทำได้ยากมากแต่ถ้าที่สุดทนไม่ไหวจริงก็คงจะหนีไม่พ้นว่าจะต้องปรับขึ้นแน่แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใด

ส่วนนายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ ประธาน ส.อ.ท.ภาคเหนือ กล่าวว่า การปิดกิจการเอสเอ็มอียังไม่เห็นผลชัดนักในขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังรวบรวมในปลายเมษายนนี้คงจะได้ข้อมูลภาพรวมทั้งหมด สาเหตุหนึ่งคือ เอสเอ็มอีพยายามประคองธุรกิจด้วยการทำบัญชีแบบไม่มีผลประกอบการเพราะไม่ต้องการปิดกิจการในทันที ประกอบกับจะไปแจ้งกับทาง กระทรวงพาณิชย์ ก็มีขั้นตอนยุ่งยาก และหากปิดทันทีก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยธุรกิจส่วนใหญ่ จึงพยายามประคองให้อยู่ไปก่อน และค่อยๆทยอยลดคน และค่อยเลิกกิจการเมื่อทนไม่ไหวจริงๆ

“เชียงใหม่ตอนนี้แรงงานย้ายไปอยู่ภาคบริการหมด หลังจากห้างสรรพสินค้าเปิดตัวเพิ่มมากทำให้ธุรกิจต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มมากกว่าปกติด้วยซ้ำในบางอย่างเช่น ภาคก่อสร้างพนักงานฉาบปูน ต้องจ่ายกัน 500 บาทต่อวันก็มีเพราะค่าแรงผลักดันให้เพิ่มขึ้นไปทั้งระบบมาก”นายยุทธพงศ์ กล่าว

 
 

NEWS & TRENDS