คลังเห็นชอบแผนเพิ่มทุนกู้วิกฤตเอสเอ็มอีแบงก์

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 


แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ตามแผนฟื้นฟูทั้ง 2 ธนาคารจะต้องทำการลดหนี้เสียให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้เสียอยู่ประมาณ  3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 40% ของหนี้ทั้งหมด มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ติดลบ 0.95%  ขณะที่ไอแบงก์มีหนี้เสียอยู่ประมาณ  2.4 หมื่นล้านบาท หรือ 22.5% ของหนี้ทั้งหมด เงินกองทุน BIS อยู่ที่ 4.6%

แหล่งข่าว กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูกระทรวงการคลังจะทำการเพิ่มทุนให้ทั้ง 2 ธนาคาร จากงบประมาณปี 2556 ที่ตั้งไว้ราว 500 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะต้องฟื้นฟูกิจการให้เงินกองทุนกลับขึ้นมาอยู่ไม่ต่ำกว่า 8.5% ตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงจะได้กลับมาทำธุรกรรมได้เต็มที่ตามปกติ โดยขณะนี้ได้จำกัดการปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่แต่ปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะเพิ่มทุนให้ทั้ง 2 ธนาคารอีกครั้งในปีงบประมาณ 2557 โดยจะให้เอสเอ็มแบงก์ได้เงินเพิ่มทุนทั้งหมดราว 2,500 ล้านบาท จากที่ขอมาทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท และไอแบงก์จะได้เงินเพิ่มทุนราว 6,000 ล้านบาท จากที่ขอมา 1.4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของไอแบงก์นั้นกระทรวงการคลัง จะใส่เงินเพิ่มทุนให้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เท่านั้นส่วนที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นรายอื่น อาทิ ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย รวมเบ็ดเสร็จแล้วเป็นเงินที่กระทรวงการคลังจะต้องใส่เอาไปจริงก็ประมาณ 5,500 ล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า นายกิตติรัตน์ได้กำชับกับกรรมการและผู้บริหารทั้ง 2 ธนาคาร ให้หลีกเลี่ยงการให้ข่าวในเรื่องหนี้เสียของธนาคาร เพราะจะทำให้รัฐบาลเสียหาย และถูกฝ่ายค้านนำเรื่องดังกล่าวไปโจมตีอยู่บ่อยครั้ง

ขณะที่นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูของเอสเอ็มอีแบงก์ได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว โดยหลังจากนี้จะเร่งกระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการคนใหม่ให้ได้ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้เข้ามาสานต่อการดำเนินงานของธนาคารให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้

อนึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู เอสเอ็มอีแบงก์)พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก3 ชุด เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานตามแผนและรายงานต่อนายทนุศักดิ์  เล็กอุทัย รมช.คลังทุกสัปดาห์ประกอบด้วย1. คณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการวางแผนทางการเงิน 2.คณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการพัฒนาคุณภาพสินเชื่อและการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)และ3. คณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการปรับโครงสร้าง และกระบวนการบริหารจัดการองค์กร

กรอบการจัดทำแผนฟื้นฟู แบ่งเป็นแผนฟื้นฟูระยะ 6 เดือน ซึ่งจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอล รวมถึงหนี้ตามเกณฑ์คุณภาพรวมถึงการกำหนดมาตรการในการติดตามหนี้ที่เกิดจากการให้สินเชื่อที่ปล่อยใหม่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับโครงสร้างระยะเวลา 3 ปี โดยให้พิจารณาระบบการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ตั้งแต่ระบบการปล่อยสินเชื่อ ระบบการกำกับติดตามลูกหนี้ รวมถึงระบบการบริหารงานต่าง ๆ เช่น การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการด้านเทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับภารกิจให้มากขึ้น

โดยผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์ยืนยันว่าจะปรับปรุงกระบวนการอำนวยสินเชื่อให้มีความรัดกุม เพื่อให้มั่นใจว่าสินเชื่อที่ปล่อยใหม่เป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ  พร้อมทั้งเพิ่มการติดตามสินเชื่อหลังอนุมัติอย่างใกล้ชิด

ที่มา : ไทยโพสต์

NEWS & TRENDS