เปิดโผสำรวจผู้ประกอบการห่วงทุนเพิ่มขาดสภาพคล่อง

กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือนมี.ค.-เม.ย. นักธุรกิจหนึ่งในสี่ห่วงเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองอาจไม่ดีเหมือนไตรมาสแรก ต้นทุนพุ่งฉุดดัชนีสภาพคล่องติดลบ

 


กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือนมี.ค.-เม.ย. นักธุรกิจหนึ่งในสี่ห่วงเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองอาจไม่ดีเหมือนไตรมาสแรก ต้นทุนพุ่งฉุดดัชนีสภาพคล่องติดลบ

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 413 คน เกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 และแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 จากการสำรวจระหว่างวันที่ 25 มีนาคมถึง 4 เมษายน 2556 พบว่า ผู้บริหาร 53.1%  ระบุว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้  ผู้บริหารอีก 24.4%  ระบุว่า น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผู้บริหาร  22.5%  ระบุว่า ผลประกอบการดีกว่าที่คาดการณ์ไว้   

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่  2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 มีผู้บริหารเพียง 11.7% เท่านั้นที่ระบุว่า แนวโน้มน่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 1 ขณะที่ผู้บริหาร 62.1%  ระบุว่าแนวโน้มน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา และผู้บริหาร  26.2% ระบุว่า เศรษฐกิจน่าจะแย่ลงกว่าไตรมาสที่ 1

ขณะที่ดัชนีด้านเศรษฐกิจได้สะท้อนการคาดการณ์ของนักธุรกิจเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากดัชนีภาวะเศรษฐกิจมีค่าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 แม้ว่าการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมจะปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 7 จุด แต่หากเทียบกับผลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือว่ายังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ดัชนีต้นทุนไตรมาส 2 พุ่งต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีด้านการทำธุรกิจซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน  คือ  ดัชนีด้านรายได้  ดัชนีด้านต้นทุน  ดัชนีด้านสภาพคล่อง  และดัชนีด้านการจ้างงานนั้น จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับ 31 จุดในเดือนมีนาคม ได้เพิ่มขึ้นเป็น 42 จุดในเดือนเมษายน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 45 จุดในเดือนพฤษภาคม แสดงให้เห็นถึงความกังวลใจเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการทำธุรกิจที่เกิดจากผลสะสมของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น  และในบางธุรกิจต้นทุนการทำธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอีกด้วย
    
ขณะที่ดัชนีด้านรายได้ในเดือนเมษายน พบว่า มีค่าปรับลดลงมาเป็น 4 จุด สะท้อนให้เห็นว่า โดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาการเพิ่มรายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์รายได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมพบว่า ได้ปรับตัวขึ้นมาเป็น 9 จุด

การเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของรายได้เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของต้นทุน ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องมีค่าลดลงมาเป็น 4 จุดในเดือนเมษายนและคาดว่าจะมีค่าติดลบเท่ากับ -6 จุด ในเดือนพฤษภาคม  ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้ดัชนีการจ้างงานมีค่าลดลงเป็น 5 จุดในเดือนเมษายน  และคาดว่าจะลดลงเหลือ 2 จุดในเดือนพฤษภาคม
5 ปัจจัยหลักกระทบธุรกิจไตรมาส 2

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในไตรมาสที่สองของปี 2556 (เมษายน ถึง มิถุนายน) 5 อันดับแรก คือ  ต้นทุนวัตถุดิบมี 3.7 คะแนน ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น 3.5 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของไทย การแข็งขึ้นของค่าเงินบาท  และความต้องการของตลาดที่ลดลง  ซึ่งได้ 3.4 คะแนนเท่ากัน

ผลสำรวจในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ  ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธุรกิจ แม้ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยและความสามารถในการสร้างรายได้จะเพิ่มขึ้น  แต่การที่ต้นทุนในการทำธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้สภาพคล่องมีแนวโน้มลดลง  ย่อมหมายถึงความอ่อนไหวทางการเงินที่สูงขึ้นซึ่งจะไปลดทอนความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง  
 

NEWS & TRENDS