ดีป้า เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อเนื่อง รุกเปิดตัว โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (One Tambon One Digital: OTOD#2) ติวเข้มทักษะ Digital Agriculture ชูโดรนเพื่อการเกษตร – แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ – IoT ภาคการเกษตรอัจฉริยะ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เปลี่ยนผ่านเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรอัจฉริยะในยุคดิจิทัล คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นประธานงานแถลงข่าวเปิด โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (One Tambon One Digital: OTOD#2) โดยมีคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมงานโดยพร้อมเพรียง ณ อาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สำนักงานใหญ่) ซอยลาดพร้าว 10
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ปี 2568 ดีป้า พร้อมดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (One Tambon One Digital: OTOD#2) ซึ่งถือเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการเกษตร (Digital Agriculture) ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มชุมชน เกษตรกร ช่างชุมชน และสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ด้วยการประยุกต์ใช้ 3 เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน dSURE และขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล ได้แก่ โดรนเพื่อการเกษตร (Drone) แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ (Tractor) และอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ภาคการเกษตรอัจฉริยะ ส่งเสริมช่องทางเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการดิจิทัลด้านการเกษตร ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก ดูแลรักษา และจัดการผลผลิต ตลอดจนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ พร้อมเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตรแบบดั้งเดิมของไทยสู่เกษตรอัจฉริยะในยุคดิจิทัล
“โครงการ OTOD#2 มุ่งเน้นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้จริงและใช้เป็นครั้งแรกของประเทศใน 3 เทคโนโลยีคือ โดรนเพื่อการเกษตร IoT ภาคการเกษตรที่เป็นแปลงใหญ่ระดับชุมชน และแทรกเตอร์อัจฉริยะที่เตรียมพร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G ในอนาคต พร้อมยกระดับแทรกเตอร์ฝีมือคนไทยด้วยการติดตั้ง GPS ซึ่งจะช่วยลดคนและระยะเวลาการทำงาน ซึ่งจุดเริ่มต้นครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมของคนไทย และทำให้แทรกเตอร์เข้าสู่ระบบ Sharing Economy ที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรในหลายมิติ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนใช้งานเครื่องมือทำการเกษตรที่มีราคาสูงภายในชุมชน ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องมือทำการเกษตรเหล่านี้ได้มากขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ ดีป้า ไม่คิดแทน ทำแทน และทำให้ แต่ต้องการให้ชุมชนทั่วประเทศ ‘คิดเอง ทำเอง และทำได้’ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับชุมชนจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน dSURE โดยคาดการณ์ว่า ผลจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
นอกจากการเปิดตัวโครงการ OTOD#2 อย่างเป็นทางการแล้ว ภายในงานยังมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ครั้งสำคัญระหว่าง ดีป้า และ Winrock International Institute for Agricultural Development (WINROCK) เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดตัวผู้สนับสนุนโครงการ จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ธนาคารออมสิน และ บริษัท เจียไต๋ จำกัด อีกทั้งการประกาศความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และ 13 หน่วยงานพันธมิตรในการร่วมเคลื่อนและผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อยกระดับทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้กับเกษตรกร รวมถึงกิจกรรมไฮไลต์กับการเนรมิตพื้นที่สำนักงานใหญ่ ดีป้า เป็นพื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรอัจฉริยะจาก 12 บริษัทสัญชาติไทย ครอบคลุมทั้งโดรนเพื่อการเกษตร แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ และ IoT ภาคการเกษตรอัจฉริยะ และเวทีเสวนาในประเด็นด้าน Digital Agriculture ที่เจาะลึกครบถ้วนในทุกมิติ
ทั้งนี้ โครงการ OTOD#2 จะจัดกิจกรรมเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมพัฒนาทักษะ Digital Agriculture ผ่านสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ การลงพื้นที่จัดกิจกรรม Accelerate Digital Agriculture และ Pitching ใน 5 ภูมิภาค 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การอบรมยกระดับทักษะเข้มข้นดิจิทัลเพื่อการเกษตร นิทรรศการสุดยอดเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร รวมถึงกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อการเกษตร มาตรฐาน dSURE พร้อมการนำเสนอแผนงานเพื่อขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก ดีป้า และกิจกรรม Digital Agriculture Final Pitching Day รอบตัดสิน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดไอเดียหรือโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยแบ่งเป็นประเภทการยกระดับกลุ่มชุมชน กลุ่มเกษตรกรพัฒนาทักษะเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 250 ราย รับทุนสนับสนุนสูดสุด 150,000 บาทต่อโครงการ และประเภทการยกระดับเกษตรกร ช่างชุมชนพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับธุรกิจ 50 ราย รับทุนสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาทต่อโครงการ รวมมูลค่าทุนสนับสนุนกว่า 47.5 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชนทั่วประเทศสามารถติดตามข่าวสารโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (One Tambon One Digital: OTOD#2) ได้ที่ Facebook Page: depa Thailand
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี