กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดอบรม “การบัญชีคาร์บอนเพื่อความยั่งยืนและการจัดการธุรกิจ”

     กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือนผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญ ‘สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ที่สหภาพยุโรปเตรียมใช้มาตรการด้านคาร์บอน เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (Carbon Intensive Products) ในปี 2569 ส่งผลให้สินค้าประเภทดังกล่าวมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ไม่รอช้าจัดอบรม ‘บัญชีคาร์บอนเพื่อความยั่งยืนและการจัดการธุรกิจ’ สร้างความตระหนักรู้เตรียมรับมาตรการของ EU ข้างต้น สร้างโอกาสนักบัญชีสู่การเป็นผู้ทวนสอบการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถบริหารจัดการระบบบัญชีคาร์บอนรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

     อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามุ่งเสริมสร้างและส่งเสริมภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SME ให้มีความเข้มแข็งและทันสมัยรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ล่าสุด กรมฯ ได้เปิดอบรมโครงการ ‘บัญชีคาร์บอนเพื่อความยั่งยืนและการจัดการธุรกิจ (Carbon Accounting for Sustainability and Management)’ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมองค์ความรู้พื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าสหภาพยุโรป (EU) หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป ‘ผ่านการใช้มาตรการด้านคาร์บอน’ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (Carbon Intensive Products)

     ปัจจุบันมาตรการ CBAM อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ก่อนเริ่มเก็บค่า CBAM certification หรือ เอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้าตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะส่งผลให้ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหภาพยุโรปลดน้อยลง ดังนั้น ผู้ผลิตซึ่งเป็นประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป รวมทั้ง ภาคธุรกิจของไทยต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันในตลาด EU ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     โดยกล่าวต่อว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ความสำคัญกับประเด็นข้างต้นเป็นอย่างมาก จึงได้เปิดการอบรมโครงการ ‘บัญชีคาร์บอนเพื่อความยั่งยืนและการจัดการธุรกิจ (Carbon Accounting for Sustainability and Management)’ ขึ้น 2 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 เดือนกรฎาคม 2568 (อบรมไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568) และ ครั้งที่ 2 เดือนกันยายน 2568 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักบัญชีของไทยเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการระบบบัญชีคาร์บอนรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการและผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเกิดจากมาตรการฯ ดังกล่าว เนื้อหาการอบรมครั้งที่ 1 ประกอบด้วย 1) การปูพื้นฐานมาตรการ CBAM โดย นายพัทธ์กมล ทัตติพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 2) เครื่องมือสำหรับการบัญชีคาร์บอน (Carbon accounting) ที่เหมาะสำหรับ SME โดย นายเลิศศักดิ์ เป้งแสงทอง ประธานกรรมการบริหารบริษัท คาร์บอนโฟลว์ จำกัด ทั้งนี้ ครั้งที่ 1 มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรม 209 ราย ประกอบด้วย ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ประกอบการ SME

     โดยกำหนดจัดอบรมครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 กันยายน 2568 เนื้อหาการอบรม ประกอบด้วย 1) การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามข้อกำหนดของ IFRS Sustainability Disclosure Standards และ 2) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเพื่อมุ่งสู่ Net Zero การขยายโอกาสนักบัญชีสู่การเป็นผู้ทวนสอบการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิชาชีพบัญชีและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ผู้สนใจสมัครอบรมครั้งที่ 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองกำกับบัญชีธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 02-547-4407 อีเมล์ trainingkkb@gmail.com และ Call Center 1570” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

NEWS & TRENDS