เอสเอ็มอีแบงก์แจงไตรมาสแรกกำไร 350 ล.

เอสเอ็มอีแบงก์ โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2556 แนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูของธนาคาร สามารถลด NPLs ลงเหลือ 27,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL 28.12%แต่เนื่องจากมีสินเชื่อตกชั้นเพิ่มในปีนี้ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ ยอด NPL ลดเหลือสุทธิ 31.92% และมียอดเบิกจ่ายรวม 6,778 ล้านบาท ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยไม่เกิน 15 ล้านบาท ตามนโยบายกระทรวงการคลัง และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 350 ล้านบาท

 


เอสเอ็มอีแบงก์ โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2556  แนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูของธนาคาร สามารถลด NPLs ลงเหลือ 27,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL 28.12%แต่เนื่องจากมีสินเชื่อตกชั้นเพิ่มในปีนี้ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ ยอด NPL ลดเหลือสุทธิ 31.92% และมียอดเบิกจ่ายรวม 6,778 ล้านบาท ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยไม่เกิน 15 ล้านบาท ตามนโยบายกระทรวงการคลัง  และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 350 ล้านบาท

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย  หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ได้จัดงานแถลงข่าวผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2556 โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ      นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร และนางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์  รักษาการกรรมการผู้จัดการ ทั้งนี้ ผลประกอบการโดยรวมของธนาคารเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูธนาคารทุกด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ด้าน NPLs  ณ สิ้นปี 2555  ธนาคารมียอด NPL เท่ากับ  31,279 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32.31% ซึ่งธนาคารแก้ไข NPLs ได้เป็นลำดับ โดยลูกค้า NPL ส่วนหนึ่งได้รับการแก้ไขปรับสถานะขึ้นเป็นลูกค้าปกติ จำนวน 2,482  ล้านบาท    และลูกค้ามีการปิดบัญชีและชำระเงินคืนธนาคารอีก 374 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อนโยบายภาครัฐ ( PSA ) ที่มีการชดเชยความเสียหายซึ่งได้รับการผ่อนผันการจัดเป็นสินทรัพย์เสี่ยงและไม่ต้องกันสำรองจากกระทรวงการคลังที่ไม่ควรนับเป็น NPL อีก 1,350 ล้านบาท  ส่งผลให้ธนาคารน่าจะมียอด NPL ลดลงเหลือ 27,073  ล้านบาท  หรือคิดเป็น 28.12 % อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีหนี้บางส่วนที่ควรจะจัดชั้นคุณภาพไปตั้งแต่ปีที่แล้วได้เริ่มทยอยตกชั้นจำนวน 1,570 ล้านบาท  และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นลูกค้าปกติอยู่แล้วได้ตกชั้นเพิ่มเติม 738 ล้านบาท รวมกับการจัดชั้นหนี้สินเชื่อ PSA 1,350 ล้านบาท เป็น NPL     ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2556  NPL ของธนาคารเท่ากับ 30,731  ล้านบาท  หรือเท่ากับ 31.92 %

ด้านยอดเบิกจ่ายสินเชื่อ ณ ไตรมาส 1/2556 ธนาคารมียอดเบิกจ่ายรวม 6,778 ล้านบาท 2,088 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นยอดเบิกจ่ายด้านสินเชื่อนโยบายภาครัฐ โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มรายย่อยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินเชื่อแฟคตอริ่ง เพื่อช่วยผู้ประกอบการเสริมสภาพคล่องธุรกิจ  ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นรายย่อยต่ำกว่า 15 ล้านบาท ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนหนึ่งได้ชำระเงินคืนเงินกู้ และปิดบัญชีกับธนาคาร ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2556  ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างเท่ากับ  96,276  ล้านบาท

ด้านผลประกอบการ  ณ ไตรมาส 1/2556 ธนาคารน่าจะมีกำไรสุทธิ 1,705  ล้านบาท โดยเป็นกำไรที่เกิดจากการบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารให้สูงขึ้นเป็นไปตามภาวะตลาด และบริหารต้นทุนเงินต่ำลง  รวมถึงแก้ไข NPL เป็นสินเชื่อปกติ ทำให้กลับมาสร้างรายได้ให้กับธนาคารอีกจำนวนหนึ่ง  ส่งผลให้ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิก่อนหักค่าใช้จ่ายดำเนินงานและสำรองส่วนเพิ่ม 719 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาส 4/2555 ประมาณ 9%   นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ผ่อนผันการกันสำรองและการจัดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงของลูกหนี้กลุ่ม PSA ของธนาคารใหม่  ทำให้เงินกันสำรองควรจะลดลง  1,355   ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจาก ธนาคารเล็งเห็นว่าอาจมีสินเชื่อที่ควรจัดชั้นตามเกณฑ์คุณภาพในปีที่ผ่านมาอาจจะตกชั้นเป็น NPL ได้อีก จึงได้กันผลกำไรที่ควรจะเพิ่มขึ้นจากที่ได้รับผ่อนผันดังกล่าวเป็นสำรองส่วนเกินไว้  ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2556   ธนาคารจึงมียอดกำไรสุทธิจากการดำเนินงานเท่ากับ  350 ล้านบาท

BIS  Ratio    ณ สิ้นปี 2555  BIS  Ratio ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 3.28 %  ซึ่งภายหลังจากธนาคารได้บริหารจัดการมีผลประกอบการกำไร  และจากการผ่อนผันของกระทรวงการคลังเรื่องการกันสำรองและการจัดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงลูกหนี้กลุ่ม PSA  รวมถึงเมื่อต้นเดือนเมษายน 2556 ได้มีการเพิ่มทุนให้ธนาคาร 555  ล้านบาท  ส่งผลให้ BIS  Ratio ของธนาคารน่าจะอยู่ที่ระดับ 7.09% แต่เนื่องจาก ธพว. จะไม่ Reverse สำรองสินเชื่อ PSA เป็นกำไรโดยจะตั้งเป็นสำรองส่วนเกินแทนจึงทำให้ BIS Ratio ลดลงเหลือ 5.10 %  

อย่างไรก็ตาม  ในระยะเวลาที่เหลือของปี 2556  ธนาคารยังคงมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง  ทั้งการด้านสินเชื่อ  การแก้ไขปัญหา NPL  ตลอดจนเร่งรัดพัฒนาระบบ IT  ที่จะมารองรับการปฎิบัติงานของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งคณะกรรมการธนาคารและฝ่ายจัดการจะเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลับคืนมาเพื่อให้เป็นสถาบันการเงินหลักเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป

NEWS & TRENDS