ไตรมาสแรกโรงงานเจ๊ง 187 รายตกงานนับหมื่น

กระทรวงอุตฯระบุไตรมาสแรกปี’56 โรงงานปิดกิจการ 187 ราย เลิกจ้างงาน 1 หมื่นรายหลังต้นทุนปรับสูงขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดตัวมากที่สุดคือ เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์

 



กระทรวงอุตฯระบุไตรมาสแรกปี’56 โรงงานปิดกิจการ 187 ราย เลิกจ้างงาน 1 หมื่นรายหลังต้นทุนปรับสูงขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดตัวมากที่สุดคือ เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์

รายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2556 (มกราคม-มีนาคม) มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตดำเนินกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 187 ราย แจ้งปิดกิจการ มูลค่าลงทุน 3,830 ล้านบาท มีการเลิกจ้างแรงงานกว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป, อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, เฟอร์นิเจอร์, ซ่อมแซมรถยนต์ เป็นต้นเนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินกิจการ รวมถึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

โดยช่วงเดียวกันของปี 2555 มีการปิดกิจการ 321 ราย มูลค่า 2,790 ล้านบาทเลิกจ้างงาน 9,800 คน แสดงให้เห็นว่าโรงงานที่ปิดกิจการในปี 2556 มีขนาดใหญ่กว่าปีที่ผ่านมาและมีปริมาณแรงงานสูง ซึ่งบางโรงงานที่ปิดกิจการมีจ้างงานระดับ 1,000 คนขึ้นไปโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการเลิกจ้างงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง แต่บรรดาแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากหลายโรงงานยังประสบปัญหาในการขาดแคลนแรงงานแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศก็ตาม

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แจ้งว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 (มกราคม-มีนาคม) มีบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอจำนวน 398 โครงการ แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงาน 48,254 ราย แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 8,360 ราย, ระดับปวช.และปวส. 11,568 ราย, ระดับ ป.6-ม.6 จำนวน 27,084 ราย และอื่นๆ 1,242 ราย ส่วนใหญ่เป็นความต้องการในกิจการบริการและสาธารณูปโภค, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

โดยสาขาปริญญาตรีที่บริษัทต้องการแรงงานมาก คือ วิศวกรรมด้านเครื่องกล645 คน, วิศวกรรมไฟฟ้า 536 คน, อุตสาหกรรม 478 คน, คอมพิวเตอร์ 295 คน, วิศวกรรมการผลิต 266 คน, โทรคมนาคม 186 คน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานประเภทฝีมือ ทั้งเรื่องของช่างเทคนิค และวิศวกร ดังนั้น ทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนาคตจึงไม่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป แต่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทํางานเชิงลึก เพื่อพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป

NEWS & TRENDS