สงกรานต์ดันดัชนีฯ SMEs มี.ค. 56 เพิ่ม

สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนมีนาคม 2556 เพิ่มขึ้นทั้งภาพรวมและรายภูมิภาค อยู่ที่ 55.0 โดยมีกลุ่มค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค้าปลีกน้ำมัน รวมทั้งบริการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน ครองแชมป์ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุด ผลจากจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ซึ่งกระตุ้นทั้งการท่องเที่ยวรวมถึงการบริโภคสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่อง

 

 
สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนมีนาคม 2556 เพิ่มขึ้นทั้งภาพรวมและรายภูมิภาค อยู่ที่ 55.0 โดยมีกลุ่มค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค้าปลีกน้ำมัน รวมทั้งบริการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน  ครองแชมป์ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุด ผลจากจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ซึ่งกระตุ้นทั้งการท่องเที่ยวรวมถึงการบริโภคสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่อง
       
นายชาวันย์ สวัสดิ์ชู-โต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนมีนาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.0 จากระดับ 46.1 (เพิ่มขึ้น 8.9) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.8  54.3 และ 57.0 จากระดับ 47.8  45.5 และ 46.0 (เพิ่มขึ้น 4.0  8.8 และ 11.0) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 71.7 และ 65.2 จากระดับ 49.1 และ 48.2 (เพิ่มขึ้น 22.6 และ 17.0) ตามลำดับ
 
“ค่าดัชนีรวมภาคการค้าและบริการในเดือนมีนาคม 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์และรัฐบาลได้ประกาศวันหยุดเพิ่มเติมทำให้มีวันหยุดติดต่อกันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวรวมถึงกลับภูมิลำเนามากขึ้น ขณะที่ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวยังคงมีความคึกคักต่อเนื่องโดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2.26 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐมีการขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกที่แม้จะเผชิญกับการแข็งค่าของเงินบาทแต่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีมูลค่า 20,769.6 ล้านเหรียญสหรัฐ” นายชาวันย์ กล่าว
  
เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 51.4 จากระดับ 46.9 (เพิ่มขึ้น 4.5) ผลจากสถานการณ์ด้านการลงทุนในภาพรวมขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับการขยายตัวของโครงการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่เริ่มดำเนินการแล้ว ภาคค้าปลีก กิจการค้าปลีกน้ำมัน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงที่สุดอยู่ที่ 63.6 จากระดับ 45.7 (เพิ่มขึ้น 17.9) ผลจากการจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งกระตุ้นให้มีการเดินทางและการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่ทำให้มีรถยนต์เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันปรับตัวลดลง จึงส่งผลให้การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแทบทุกประเภท ภาคบริการ บริการด้านขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูงอยู่ที่ 67.8 และ 62.7 จากระดับ  47.7 และ 46.1 (เพิ่มขึ้น 20.1 และ 16.6) ผลจากการเร่งขนส่งสินค้าและเตรียมการขนส่งผู้โดยสารเพื่อรองรับการเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 51.1 จากระดับ 54.4 (ลดลง 3.3) และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยกิจการภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 51.8  51.5 และ 50.3 จากระดับ 51.9  54.6 และ 55.1 (ลดลง 0.1 3.1 และ 4.8) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 55.5 และ 51.6 จากระดับ 73.9 และ 61.8 (ลดลง 18.4 และ 10.2)

“แม้ว่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวลดลง แต่เนื่องจากอยู่ในระดับที่เกินกว่า 50 สะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี แต่ปัจจัยทั้งด้านภาวะการแข่งขันในตลาด ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน รวมถึงระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่ง ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในระดับสูง” นายชาวันย์ กล่าว  

ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนมีนาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่า ทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ 63.9 จากระดับ 43.1 (เพิ่มขึ้น 20.8) รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 58.1 จากระดับ 45.9 (เพิ่มขึ้น 12.2) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.9 จากระดับ 45.2 (เพิ่มขึ้น 7.7) ภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.4 จากระดับ 49.7 (เพิ่มขึ้น 4.7) และภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.1 จากระดับ 45.5 (เพิ่มขึ้น 3.6) ตามลำดับ

สำหรับดัชนี TSSI SMEs ประจำไตรมาสที่ 1/2556 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2555 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 49.2 จากระดับ 50.5 (ลดลง 1.3) โดยภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 48.5 และ 49.8 จากระดับ 50.1 และ 51.7 (ลดลง 1.6 และ 1.9) ตามลำดับ ขณะที่ภาคค้าส่ง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.7 จากระดับ 48.6 ส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.9 และ 52.5 จากระดับ 39.4 และ 40.3 (เพิ่มขึ้น 15.5 และ 12.2) ส่วนคาดการณ์ไตรมาสหน้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.5 จากระดับ 51.9
 

NEWS & TRENDS