รัฐจัดสัมมนาใหญ่จูงใจ SMEs ญี่ปุ่นลงทุนไทย

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หน่วยงานในสังกัด และภาคเอกชน เตรียมผนึกกำลังจัดสัมมนาใหญ่ชักจูงการลงทุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่น ในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค.นี้

 


นายประเสริฐ บุญชัยสุข  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หน่วยงานในสังกัด และภาคเอกชน เตรียมผนึกกำลังจัดสัมมนาใหญ่ชักจูงการลงทุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่น ในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะผนึกกำลังหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ), กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันอาหาร จัดกิจกรรมสัมมนาเอสเอ็มอี ไทย-ญี่ปุ่น และการพบหารือทางธุรกิจ(Thai-Japanese SMEs Seminar & Business Networking)

การสัมมนาดังกล่าวจะเชิญผู้แทนภาคเอกชนไทย 4 ราย ได้แก่ ตัวแทนกลุ่มอุตสากรรมชิ้นส่วนยานยนต์และแม่พิมพ์ กลุ่มอุตสาหกรรมหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วน และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ไปบรรยายถึงสถานภาพอุตสาหกรรมและศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ตลอดจนโอกาสและลู่ทางการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการในการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น
          
"ภาคเอกชนที่จะร่วมเดินทางไปประกอบด้วย นายวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มาสเตอร์เทค แอนด์ ซิสเต็มส์ จำกัด นายสืบตระกูล บินเทพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) นายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ ประธานบริษัท เอ็น อาร์ อินดัสตรีย์ จำกัด และนายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่นตอบรับเข้าร่วมการสัมมนาและกิจกรรมพบปะสร้างเครือข่ายทางธุรกิจแล้วถึง 160 กว่าราย" นายประเสริฐ กล่าว
          
นอกจากนี้ บีโอไอและสถาบันอาหารจะจัดกิจกรรมสัมมนาย่อยรายสาขาชักจูงการลงทุนญี่ปุ่นในด้านอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้น Functional Food & Health Food เพื่อชักชวนเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งคาดว่าจะมีบริษัทเป้าหมายรายใหญ่เข้าร่วมรับฟังโอกาสและลู่ทางการลงทุน 7-8 ราย โดยมีนายตัน ภาสกรนที ผู้ประกอบการไทยด้านเครื่องดื่มเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้วย
          
"ระยะ 2-3 ปีหลัง การลงทุนจากเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นมาก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง เพื่อบูรณาการการดำเนินภารกิจของหน่วยงานภายใต้กระทรวง สร้างโอกาสของการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น เช่น การรับช่วงผลิตชิ้นส่วน การซื้อขายเทคโนโลยี ตลอดจนการร่วมทุนทางธุรกิจ" นายประเสริฐกล่าว
       
นอกจากนี้ยังมีคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่เข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนในไทยหลายคณะ นำโดยองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับท้องถิ่น เช่น คณะนักลงทุนจากจังหวัดโทยาม่า คณะนักลงทุนจากหอการค้านาโกย่า คณะนักลงทุนจากหอการค้าโอซาก้า คณะนักลงทุนจากจังหวัดกิฟุ เป็นต้น และเมื่อวันที่ 16-19 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาลู่ทางในประเทศไทยและเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจกับเอสเอ็มอีไทย ในงาน SUBCON Thailand กว่า 60 ราย ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการรับช่วงการผลิต มีการจับคู่ธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงให้เกิด การจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
         
ทั้งนี้ การลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 มีจำนวน 216 โครงการ มูลค่า 149,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 12 ขณะที่ในปี 2555 ญี่ปุ่นลงทุนรวมทั้งสิ้น 872 โครงการ มูลค่ารวม 373,985 ล้านบาท ส่วนสถิติโครงการลงทุนขนาดกลางและขนาดย่อมจากญี่ปุ่น ที่มีขนาดการลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกันในระหว่าง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2555 มีจำนวน 545 โครงการ มูลค่า 34,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 49
 

NEWS & TRENDS