โพลชี้คนอีสานเซ็งรัฐลดค่าครองชีพไม่ได้ตามสัญญา

นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความเห็นชาวอีสาน ต่อการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า” ที่สำรวจระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

 



นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความเห็นชาวอีสาน ต่อการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า” ที่สำรวจระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

ด้านการแก้ไขปัญหาราคาข้าว ส่วนใหญ่ 61.6% พอใจ เพราะชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น มีที่รองรับการขายข้าวของชาวนา และสามารถจำหน่ายได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วน 38.4% ไม่พอใจ เพราะเชื่อว่ามีการทุจริตในกระบวนการ ชาวนาไม่มาไถ่ข้าวคืน เป็นการทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนเห็นว่าราคารับซื้อข้าวยังต่ำอยู่ ต้องการให้เพิ่มขึ้นกว่านี้

การแก้ไขปัญหาราคายางพารา ส่วนใหญ่ 59.2% พอใจ เพราะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ส่วน 40.8% ไม่พึงพอใจ เพราะรู้สึกว่าราคายังอยู่ในระดับต่ำ ต้องการให้ราคายางพาราดีกว่านี้ และบางส่วนเห็นว่า การที่แทรกแซงราคายางให้สูงขึ้น จะทำให้เกิดปัญหายางล้นตลาด

การแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซ และ ไฟฟ้า เป็นต้น) ส่วนใหญ่ 54.5% ไม่พอใจ โดยให้เหตุผลว่า ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพอย่างมาก รัฐไม่ได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาราคาพลังงาน โดยบางส่วนเชื่อว่า ราคาในปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนอีก 46.5% พอใจต่อการแก้ปัญหาราคาพลังงานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้พยายามตรึงราคาไว้ระดับหนึ่งแล้ว และแก้ปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว

ส่วนนโยบายลดค่าครองชีพ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 67.8% รู้สึกค่อนข้างผิดหวัง และ 27.8% รู้สึกผิดหวังอย่างมาก มีเพียง 4.5% ที่รู้สึกพอใจหรือไม่รู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาล ซึ่งผู้ที่ไม่ผิดหวังได้ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจโดยรวมและบางส่วนไม่ได้คาดหวังจากนโยบายจึงมองว่าการไม่สามารถทำตามคำมั่นได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา

อีสานโพลได้สอบถามความเห็นผลกระทบของนโยบายค่าแรง 300 บาทว่า มีส่วนทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น จนผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาหรือไม่ ส่วนใหญ่ 58.3% เห็นว่าค่อนข้างมีส่วน และอีก 31.2% เห็นว่ามีส่วนอย่างมาก มีเพียง 5.5% ที่เห็นว่าไม่มีส่วนเลย และอีก 5.0% ไม่ทราบ/ไม่มีความเห็น

นายสุทิน กล่าวว่า  ผลสำรวจสะท้อนกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเกินกว่าครึ่ง พอใจกับการแก้ไขปัญหาราคาข้าวและยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของอีสาน ส่วนความเห็นต่อกรณีราคาไข่ไก่สูงขึ้นช่วงนี้ ชาวอีสานส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดจากการจัดการของรัฐบาลและต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นว่าเกิดจากสภาพอากาศ ตามที่รัฐบาลออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้

ขณะที่การจัดการราคาพลังงานยังถือว่าสอบไม่ผ่านเพราะเป็นส่วนที่กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนทุกระดับ โดยส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวัง ที่รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นที่ว่าจะกระชากค่าครองชีพลงมาได้ ซึ่งแม้นโยบายค่าแรง 300 บาทจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่คนอีสานก็เห็นว่ามีส่วนทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตามเช่นกัน ดังนั้นรัฐควรให้ความสำคัญกับการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพอย่างเร่งด่วนและยั่งยืนตามที่เคยให้สัญญาไว้
 

NEWS & TRENDS