คต.ชี้อียูคืนสิทธิ์ GSP เมียนมาร์อานิสงฆ์ธุรกิจไทย

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ตามที่สหภาพยุโรปได้พิจารณาคืนสิทธิ GSP แก่เมียนมาร์ภายใต้ระบบ Everything But Arms : EBAs แล้วนั้น ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศระเบียบกำหนดให้เมียนมาร์เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนที่สามารถสะสมถิ่นกำเนิดระหว่างกันได้ หลังจากที่เมียนมาร์โดนตัดสิทธิ GSP มาตั้งแต่ปี 2540

 


นางสาวบรรจงจิตต์  อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ตามที่สหภาพยุโรปได้พิจารณาคืนสิทธิ GSP แก่เมียนมาร์ภายใต้ระบบ Everything But Arms : EBAs แล้วนั้น ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศระเบียบกำหนดให้เมียนมาร์เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนที่สามารถสะสมถิ่นกำเนิดระหว่างกันได้ หลังจากที่เมียนมาร์โดนตัดสิทธิ GSP มาตั้งแต่ปี 2540

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุญาตให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ากับเมียนมาร์ได้จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่มีSupply Chain ในเมียนมาร์สามารถนำวัตถุดิบจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาผลิตสินค้าและส่งออกไปยังสหภาพยุโรปภายใต้สิทธิ GSP ได้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าไทยบางกลุ่มยังสามารถขายวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการในเมียนมาร์ซึ่งหากวัตถุดิบดังกล่าวผ่านกระบวนการผลิตจนได้ถิ่นกำเนิดในเมียนมาร์ สินค้าดังกล่าวจะสามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปภายใต้ระบบ EBAs       ได้ด้วยซึ่งสินค้าดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมด

        ดังนั้น การที่เมียนมาร์ได้คืนสิทธิ GSP จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการผลิตหรือแหล่งวัตถุดิบเพื่อใช้ประโยชน์จากระบบ GSP สหภาพยุโรปได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธิสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ากับเมียนมาร์ภายใต้ระบบ GSP ของสหภาพยุโรปได้ ตั้งแต่วันที่ 1  มกราคม  2557 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP นั้น เป็นการให้สิทธิฯ ฝ่ายเดียวและประเทศผู้ให้สิทธิฯ คือสหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิฯ และตัดสิทธิฯ เองทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันสหภาพยุโรปกำหนดหลักเกณฑ์ในการตัดสิทธิฯ โดยจะตัดสิทธิฯ ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวตั้งแต่ระดับ Upper Middle Income (ประมาณ 3,900 – 12,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี) ขึ้นไป เป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ซึ่งหากประเทศไทยมีระดับรายได้ตามเกณฑ์ดังกล่าวก็จะถูกตัดสิทธิ GSP สหภาพยุโรปและไม่สามารถใช้สิทธิสะสมถิ่นกำเนิดฯ ดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้ได้ตามระดับสากล เนื่องจาก ไทยไม่สามารถพึ่งพิงความได้เปรียบในด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียวได้ตลอดไป

กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและกำกับดูแลการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ระบบGSP ได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบและสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 0-25474819 หรือ DFT Center โทร. 1385 หรือทาง   เว็บไซด์ www.dft.go.th

NEWS & TRENDS