พฤติกรรมคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตซื้อสินค้าสูง

ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป หากประเทศ ไทยจะก้าวเข้าสู่โลกแห่งการใช้งานอินเทอร์เน็ต

 


ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป หากประเทศ ไทยจะก้าวเข้าสู่โลกแห่งการใช้งานอินเทอร์เน็ต

โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook (เฟซบุ๊ก) มีผู้ใช้ 19 ล้านราย และมีเฟซบุ๊ก แฟนเพจ 3 แสนเพจ,Twitter (ทวิตเตอร์) ผู้ใช้งาน 5 ล้านข้อความ/วัน จากคนใช้ทวิตเตอร์ทั้งหมดจำนวน 2 ล้านราย และ Instagram (อินสตาแกรม) หรือ ไอจี ที่กำลังบูมและขยายการใช้งานไปกว่า 8 แสนรายในขณะนี้

ดังนั้นเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยให้อัตราการใช้งานพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2556 ที่ทาง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผยผลสำรวจว่า คนไทยมีพฤติกรรมใช้งานอินเทอร์ เน็ตในรอบ 12 ปี เพิ่มสูงถึง 76.3% โดยพฤติกรรมที่คนไทยใช้มากที่สุดคือ การซื้อสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดีย เพศหญิงนิยมซื้อสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ส่วนเพศชาย ซื้ออุปกรณ์ไอทีสูงถึง 90%

โดยอุปกรณ์ที่เข้าถึงการใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อซื้อสินค้าเป็นหลักได้แก่ สมาร์ทโฟน เนื่องจากแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น ราคาเครื่องสมาร์ทโฟนจึงถูกลง ประกอบกับสมาร์ทโฟนยังอำนวยความสะดวกการซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา โดยเทคโนโลยีเครือข่ายมือถือ และที่สำคัญคือไวไฟฟรี ของกระทรวงไอซีที ที่ได้รับความร่วมมือจาก ทีโอที, กสทโทรคมนาคม, ดีแทค, ทรูและเอไอเอส ที่มีให้บริการกว่า 1.2 แสนจุด และภายในสิ้นปี 56 จะมี 2.5 แสนจุด รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (พีซี) และคอมพิวเตอร์พกพา (โน้ตบุ๊ก)

สำหรับการใช้งานโซเชียลมีเดีย ผ่านสมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่ยังมีการใช้งานในเขตกรุงเทพฯ กว่า 38.1% เขตเทศบาล 31.6% และนอกเขตเทศบาล 27.1% โดยกลุ่มพนักงานเอกชนมีการใช้งานสูงกว่า43 .1% รองลงมาคือ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 31.9% เจ้าของกิจการ 31.5% และสุดท้ายคือ กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน เพียง 22.6% เท่านั้น

ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรกว่า 65 ล้านคน แต่เมื่อเทียบกับพฤติกรรมการใช้งานยังกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มอยู่ ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงไอซีที จึงเพิ่มขยายตัวอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ในปี 58 ครอบคลุม 80% และในปี 63 ขยายเป็น 95%

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ผลของการสำรวจพฤติ กรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ ช่วยทำให้ประเทศไทยและนักลงทุน นักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งองค์กร นำไปประยุกต์และปรับใช้โลกยุคปัจจุบันได้เหมาะสม

ด้าน นางสาวสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า ดังนั้นเมื่อพฤติกรรมคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อซื้อสินค้าและบริการและในอนาคตการโฆษณาและประชาสัมพันธ์จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบออนไลน์มากขึ้น สพธอ. จึงเตรียมตั้งหน่วยงาน Online Consumer Protection (ออนไลน์ คอนซูเมอร์ โพรเทคชัน) เพื่อรับข้อร้องเรียนกรณีถูกฉ้อโกงจากการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์

เมื่อพฤติกรรมคนไทยเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางออนไลน์ โอกาสของธุรกิจ หรือองค์กร ก็ต้องปรับตัวตาม เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 58 ต่อไป.

สุรัสวดี สิทธิยศ

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/

NEWS & TRENDS