แฟรนไชส์ไทยโชว์ศักยภาพบุกตลาดอาเซียน ยุโรปสำเร็จ

น.ส.พิกุล ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่มีศักยภาพจำนวนทั้งสิ้น 452 ราย และในจำนวนนี้ได้ออกไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศได้แล้ว 16 ธุรกิจใน 28 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปลงทุนในตลาดอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับจากต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยกรมฯ คาดว่าจะมีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยใหม่ๆ ออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นอีก

 


น.ส.พิกุล ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่มีศักยภาพจำนวนทั้งสิ้น 452 ราย และในจำนวนนี้ได้ออกไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศได้แล้ว 16 ธุรกิจใน 28 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปลงทุนในตลาดอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับจากต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยกรมฯ คาดว่าจะมีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยใหม่ๆ ออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นอีก
       
       สำหรับ 16 ธุรกิจที่ออกไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศอยู่ใน 5 กลุ่มหลัก คือ อาหารและเครื่องดื่ม 5 ราย บริการ 1 ราย การศึกษา 2 ราย ความงามและสปา 5 ราย ค้าปลีก 3 ราย
       
       โดยแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ Black Canyon ไปอินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ พม่า สิงคโปร์ ยูเออี กัมพูชา Neo Suki ไปลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน The Coffee Maker ไปกัมพูชา ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ ไปพม่า ออสเตรเลีย โชคดี ติ่มซำ ไปพม่า แฟรนไชส์บริการ ได้แก่ Moly Care ไปลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม แฟรนไชส์การศึกษา ได้แก่ Smart Brain ไปปากีสถาน คูเวต ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี กัมพูชา อังกฤษ จีน อินเดีย Smart English ไปอินโดนีเซีย
       
       แฟรนไชส์ความงามและสปา ได้แก่ Aromavera Spa ไปบังกลาเทศ จีน ออสเตรีย Bontras ไปยูเออี ซาอุดีอาระเบีย อังกฤษ เวียดนาม ฮ่องกง Greentouch สุดธนา ไปกัมพูชา Spa of Siam ไปจีน พัชรสปา ไปอิตาลี และแฟรนไชส์ค้าปลีก ได้แก่ Index Living Mall ไปเวียดนาม เนปาล มัลดีฟส์ ตุรกี กาตาร์ บาห์เรน โอมาน จอร์แดน อียิปต์ Nobody Jean ไปเวียดนาม Wongpanit ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน อินเดีย
       
       “แฟรนไชส์พวกนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ติดตลาดในประเทศแล้ว และกำลังออกไปติดตลาดในต่างประเทศ ซึ่งเป้าเบื้องต้นกรมฯ สนับสนุนให้ไปตลาดเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แต่บางรายไปไกลกว่านั้น ไปถึงตะวันออกกลาง ไปยุโรปแล้ว” น.ส.พิกุลกล่าว
       
       น.ส.พิกุลกล่าวว่า สำหรับแผนการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กรมฯ ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้มีธุรกิจใหม่ๆ เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น โดยจะเปิดอบรมผู้ประกอบการที่อยากจะทำธุรกิจแฟรนไชส์ ตั้งเป้าอบรมปีละ 150 ราย และให้มีผู้ผ่านการอบรมจนพัฒนาเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ปีละ 30% จากนั้นจะช่วยพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจให้ได้มาตรฐานสากล และช่วยพัฒนาแบรนด์เพื่อให้แข่งขันได้ และเมื่อธุรกิจมีความเข้มแข็งก็จะผลักดันให้ออกไปทำตลาดต่างประเทศต่อไป
       
       ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 477 ราย มีสาขาในประเทศไทยรวม 42,681 สาขา แยกเป็นแฟรนไชส์ไทย 452 ราย โดยมีสาขาทั่วประเทศ 32,265 สาขา และแฟรนไชส์ต่างประเทศ 25 ราย มีสาขา 10,416 สาขา

ที่มา : www.manager.co.th/

NEWS & TRENDS