EIC แนะเอกชนใช้ความเชื่อมโยงสร้างโอกาสธุรกิจ

EIC แนะภาคเอกชนใช้ความเชื่อมโยงเป็นสร้างโอกาสธุรกิจ ทั้งในมิติของการเจาะตลาดใหม่ การแสวงหาช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า กลยุทธ์ดึงดูดและป้องกันการช่วงชิงแรงงาน และการระดมทุนจากต่างประเทศ

 


EIC แนะภาคเอกชนใช้ความเชื่อมโยงเป็นสร้างโอกาสธุรกิจ ทั้งในมิติของการเจาะตลาดใหม่ การแสวงหาช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า กลยุทธ์ดึงดูดและป้องกันการช่วงชิงแรงงาน และการระดมทุนจากต่างประเทศ

ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เผยว่าโปรเจกต์ใหญ่ในการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างไทยและกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะนำพาทั้งโอกาสและความท้าทายในการทำธุรกิจมาสู่ผู้ประกอบการไทยหลายรูปแบบ ซึ่งมีแนวทางเสริมแกร่งเพื่อรับมือหลักๆ อยู่ 4 ข้อ เริ่มจากการเจาะตลาดใหม่ที่มีความเติบโตสูง โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งธุรกิจภาคบริการจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากการพัฒนาสู่สังคมเมือง รวมถึงอุตสาหกรรมค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ด้วย

ในขณะเดียวกันการหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้า ก็เป็นกลยุทธ์ที่ EIC แนะนำให้ทำควบคู่กันไป โดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์ที่นอกจากจะมีต้นทุนต่ำแล้วยังช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับวิธีรับมือกับการเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น EIC เผยข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของประชากร และการเติบโตของแรงงานต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนแรงงานจะพุ่งขึ้นสูงสุดและลดลงเรื่อยๆ เฉลี่ย 60,000 คนต่อปี ซึ่งค่าตอบแทนเป็นเหตุผลหลักในการย้ายออกของแรงงานไทย ภาคเอกชนจึงควรออกแบบโครงสร้างผลตอบแทนการทำงานให้มีความน่าสนใจ จึงจะสามารถดึงดูดและรักษาฐานแรงงานที่จำเป็นต่อองค์กรไว้ได้ 

ท้ายสุดคือ การระดมทุนจากต่างประเทศด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งผลจากการที่ตลาดทุนในอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ส่วนต่างของต้นทุนในการระดมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศจะลดลง เป็นแนวทางแก่ภาคเอกชนในการระดมทุนจากปลายทางที่ดำเนินการอยู่ได้

อนึ่ง ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าของโปรเจ็คท์แห่งการเชื่อมโยงดังกล่าวเน้นย้ำว่า การพัฒนาเมืองใหม่ถือเป็นกลไกสำคัญในการเติบโตของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก จัดอยู่ในลำดับที่ 49 ขณะที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และมาเลเซีย รั้งตำแหน่งที่  2, 5, 16 และ 29 ตามลำดับ ส่งผลให้ไทยไม่สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นถือเป็น The Lost Decade แต่นับจากนี้บรรยากาศของความเจริญจะเข้าสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น การันตีจากตัวเลขในปีที่แล้วซึ่งกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลสร้าง GDP ให้ประเทศลดลง ขณะที่จังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะในเขตชายแดนกินสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 
 


 

NEWS & TRENDS