"โฆสิต" แนะ SMEs 3 ข้อรับมือการเปลี่ยนแปลง

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME นั้น ถือว่ามีบทบาทและเป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ปัจจุบันในระบบเศรษฐกิจนั้นมี SME เป็นจำนวนถึง 99.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการจ้างงานมากถึง 78 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ส่งผลให้ SME เปรียบเสมือนผู้ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยให้เดินไปข้างหน้า แม้จะมีความสำคัญ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งในเรื่องของขนาดและความพร้อมในด้านต่างๆ จึงทำให้มี SME จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินกิจการ

 


เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME นั้น ถือว่ามีบทบาทและเป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ปัจจุบันในระบบเศรษฐกิจนั้นมี SME เป็นจำนวนถึง 99.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการจ้างงานมากถึง 78 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ส่งผลให้ SME เปรียบเสมือนผู้ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยให้เดินไปข้างหน้า แม้จะมีความสำคัญ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งในเรื่องของขนาดและความพร้อมในด้านต่างๆ จึงทำให้มี SME จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินกิจการ

เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวนี้เอง ทำให้ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ SME มาโดยตลอด และได้มีการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนผ่านระบบสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการและสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนการก่อตั้งชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอีขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ก็เดินหน้ามาเป็นเวลาครบ10 ปีเต็ม โดยยังคงมุ่งเน้นทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน เพื่อส่งเสริมให้ SME ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับในปี 2556 นี้ ภายใต้มุมมองของผู้บริหารธนาคารกรุงเทพอย่าง โฆสิต เชื่อว่าจะเป็นปีที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย และจำเป็นต้องคิดถึงก้าวต่อไปแล้วว่าจะเดินไปในทิศทางใด

“ก่อนที่จะคิดว่าก้าวต่อไปคืออะไร วันนี้เราต้องรู้แล้วประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว วันนี้ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีทรัพยากร เรามีวัตถุดิบไม่เพียงพอ เรามีผู้บริโภคคงที่ เพราะคนไทยเกิดน้อยขึ้น เราไม่มีแรงงานราคาถูก นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเราต้องคำนึงถึง ‘ก้าวต่อไป’ ว่าคืออะไร”

ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการ SME จะตอบโจทย์ของตัวเองได้นั้น ว่าก้าวต่อไปคืออะไร จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง 3 เรื่องดังต่อไปนี้ เรื่องแรกก็คือ “การเข้าใจโจทย์” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น โจทย์ของการทำงานจึงไม่เหมือนกับที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SME ควรเข้าใจโจทย์การทำธุรกิจของตนเองให้ดี เพราะวันนี้โจทย์มีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผู้ประกอบการคุ้นเคย เช่น อาจจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน ยกตัวอย่าง ส่วนไหนที่คิดว่าทำเองแล้วไม่คุ้ม ก็ควรต้องเลิก แต่อาจไม่ใช่ว่าต้องเลิกทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนไปซื้อ หรือเช่า หรือจ้างแทน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง 

เรื่องที่สองคือ “การรู้วิธี” สืบเนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจที่วันนี้การจะแพ้หรือชนะได้นั้น ขึ้นอยู่ที่การรู้วิธี หรือที่หลายคนเรียกกันว่า Know-How นั่นเอง หากวิธีนั้นๆ มีคนรู้เป็นจำนวนมาก นั่นหมายถึงว่า การแข่งขันก็ย่อมต้องสูงตาม หรือแทบจะไม่มีกำไร แต่ในทางกลับกัน หากวิธีนั้นมีคนรู้น้อย การแข่งขันก็จะลดลง กำไรก็จะมากขึ้น และยิ่งถ้าวิธีนั้นผู้ประกอบการรู้อยู่เพียงคนเดียว หรือที่เรียกว่า “นวัตกรรม” ก็จะยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันอยู่เหนือคู่แข่ง

“การรู้วิธี หรือ Know-How เป็นการรู้จากการปฏิบัติ SME เหมาะที่จะมี Know-How ที่สุด เพราะเป็นลักษณะเถ้าแก่ลงมือทำเอง มีโอกาสได้ทำมากกว่า อาจเรียกได้ว่า SME ทุกคนมี Know- How หมด เพียงแต่ต้องหาวิธีใช้มันให้เป็น การรู้แล้วนำไปต่อยอดเรื่อยๆ หรือเอาสิ่งที่รู้มาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น อันนี้เรียกว่า R&D ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำยากเย็นอะไร ผลลัพธ์ของ R&D คือการได้ผลิตภัณฑ์ใหม่  ถ้าเอา Know-How มาวางไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการต่อยอด ก็จะไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้น และถ้าไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ เท่ากับว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม อยากให้ผู้ประกอบการ SME ดูว่าที่ผ่านมาแต่ละคนนั้นมีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ ถ้าสร้างความแตกต่างได้ ก็จะมีความสามารถในการแข่งขัน”

เรื่องสุดท้าย “การสร้างเครือข่าย” ซึ่งโฆสิตกล่าวว่า SME จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มพลังให้กับตัวเอง ซึ่งวิธีการเติมพลังนั้นมีหลากหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การมีพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ที่มีความเข้มแข็ง เช่น เป็นคู่ค้ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความมั่นคง ก็ถือเป็นการเติมพลังให้ SME อีกทางหนึ่ง หรือจะเป็นการสร้างเครือขายในกลุ่มธุรกิจด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เกิดความเข้มแข็งขึ้นได้

ถึงเวลาแล้วที่ SME ต้องคิดถึง “ก้าวต่อไป” แต่หากยังไม่รู้ว่าจะก้าวไปอย่างไรดี ลองอาศัยแนวคำตอบทั้ง 3 เรื่องนี้จากมุมมองของนายแบงก์ท่านนี้ เชื่อว่าจะช่วยทำให้องค์กรมีความยั่งยืนและเข้มแข็งได้ 

 

NEWS & TRENDS