สสว.เปิดโครงการปั้นผู้ประกอบการใหม่

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า จากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น แม้ข้อมูลของกระทรวงแรงงานจะพบว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากอย่างที่เกรงในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม พบว่า ตามปกติจะมีธุรกิจตั้งใหม่ประมาณ 30,000 รายต่อปี ขณะที่อัตราการเลิกกิจการอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เมื่อเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่าธุรกิจที่ปิดตัวส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขาดความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ ขาดทักษะ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทดแทนธุรกิจเดิม ทำให้รายได้ลดลง ขณะที่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานสูงอายุ

 

       
       นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า จากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น แม้ข้อมูลของกระทรวงแรงงานจะพบว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากอย่างที่เกรงในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม พบว่า ตามปกติจะมีธุรกิจตั้งใหม่ประมาณ 30,000 รายต่อปี ขณะที่อัตราการเลิกกิจการอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เมื่อเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่าธุรกิจที่ปิดตัวส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขาดความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ ขาดทักษะ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทดแทนธุรกิจเดิม ทำให้รายได้ลดลง ขณะที่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานสูงอายุ
       
       จากภาวะเกิดการเลิกจ้างของธุรกิจขนาดเล็กและเลิกจ้างแรงงานอายุมากดังกล่าว ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ได้จัดทำโครงการ “เสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่” โดยนำหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง รวมถึงผู้ที่กำลังมองหาอาชีพให้กลายมาเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่
       
       สำหรับการดำเนินโครงการจะครบวงจร ตั้งแต่ช่วยเริ่มต้นจนสามารถตั้งธุรกิจของตัวเองได้สำเร็จ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกเน้นให้ความรู้ทางวิชาการ เช่น ความรู้ด้านทำตลาด ความรู้การทำธุรกิจ เป็นต้น ระยะที่ 2 ให้ความรู้ทางปฏิบัติฝึกทักษะฝีมืออาชีพ และระยะที่ 3 สนับสนุนเงินทุนตั้งธุรกิจได้จริง โดยจะส่งเสริมสร้างอาชีพทั้งด้วยตัวเอง และแบบธุรกิจแฟรนไชส์ โดยทีมพี่เลี้ยงดูแลตลอดที่เข้าร่วมโครงการ
       
       ด้านนายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รักษาการผู้อำนวยการ สสว.กล่าวเสริมว่า สสว.ใช้งบประมาณในโครงการนี้ จำนวน 10 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการเดือนธันวาคม 2556 โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นปีคาดมีกิจการเอสเอ็มอีต้องปิดตัวประมาณ 2-3 พันราย แต่ละรายจะมีอัตราจ้างแรงงานประมาณ 1-9 คนต่อกิจการ โดยสาเหตุที่ สสว.ให้ความสำคัญในการช่วยแรงงานที่มีอายุมากนั้น เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่า แรงงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปเมื่อถูกเลิกจ้างแล้ว จะหางานใหม่ได้ยากมาก ต่างจากแรงงานหนุ่มสาวแทบไม่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้กิจการเดิมจะปิดตัวก็จะมีกิจการอื่นๆ คอยรองรับอยู่แล้ว
       
       สำหรับการดำเนินโครงการนั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง สสว.จะลงพื้นที่ 10 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบการจากปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าโครงการจำนวน 3,000 คน โดยเปิดรับทั้งผู้ประกอบการหน้าเก่าและหน้าใหม่ โดยเกณฑ์คัดเลือกจากความตั้งใจจริง
       
       ทั้งนี้ หลักสูตรที่จะเปิดสอนนั้น รวม 10 อาชีพ ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ทำง่ายๆ และสามารถประกอบอาชีพได้จริง เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ทำเบเกอรี เครื่องดื่ม ช่างต่างๆ เป็นต้น วางเป้าว่า จาก 3,000 คนที่เข้าอบรมจะต้องกลายมาเป็นผู้ประกอบการจริงอย่างน้อย 300 ราย และหลังจากตั้งกิจการแล้ว ต้องประสบความสำเร็จด้วย โดยวางเป้าแต่ละรายจะมีรายได้ในช่วง 3 เดือนแรกอย่างน้อย 30,000 บาทต่อเดือน และตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 360,000 บาท
       
       นายชาวันย์กล่าวด้วยว่า จุดเด่นของโครงการนี้ คือการปั้นผู้ประกอบการแบบครบวงจร ตั้งแต่ให้ความรู้จนถึงตั้งกิจการได้จริง แหล่งเงินทุน นอกจากนั้น ยังมีทีมตรวจสอบความสำเร็จหลังตั้งกิจการด้วย ซึ่งหากโครงการครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เตรียมจะเพิ่มจำนวนเปิดรับสมัครผู้เข้าโครงการมากยิ่งขึ้นในปีต่อไป
       
       สำหรับสถานการณ์การตั้งกิจการใหม่ของผู้ประกอบการ ในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2556) พบว่า มีการจัดตั้งกิจการใหม่ รวมประมาณ 30,629 ราย เพิ่มขึ้นประมาณ 21.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกิจการยกเลิก รวม 4,221 ราย ลดลง 6.86% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
       
       สำหรับประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างทั่วไป บริการนันทนาการ อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร และขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยมีการเกิดและล้มเลิกกิจการจากภาวะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และภาวะหมุนเวียนแรงงาน
       
       ขณะที่จังหวัดที่มีการเพิ่มค่าแรง 20-30% และมีการจ้างงานเกินกว่า 1แสนคน มีจำนวน 12 จังหวัด เช่น เชียงราย นครสวรรค์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ เป็นต้น และจังหวัดที่มีการเพิ่มค่าแรงมากกว่า 30% ได้แก่ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ลำปาง และแพร่
       
       สำหรับสาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ภาคผลิต ได้แก่ สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม ภาคค้าปลีกค้าส่ง ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มซ่อมแซมยานยนต์ สถานีบริการน้ำมัน และสำหรับภาคบริการ ได้แก่ ภัตตาคาร และร้านอาหาร

NEWS & TRENDS