ดัชนีฯ SMEs มิ.ย. เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์

สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนมิถุนายน 2556 เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 46.8 และ 50.7 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ ผลจากการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก สถานการณ์ภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในภาพรวมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค ค้าปลีกน้ำมัน รวมถึงบริการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน ครองแชมป์ค่าดัชนีเพิ่มสูงสุด ขณะที่ค่าดัชนีไตรมาส 2/2556 ปรับตัวลดลง ปัจจัยฉุดอยู่ที่การแข่งขันในตลาด ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อ รวมทั้งต้นทุนสินค้าและค่าแรง

 

สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนมิถุนายน 2556 เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 46.8 และ 50.7 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ ผลจากการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก สถานการณ์ภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในภาพรวมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค ค้าปลีกน้ำมัน รวมถึงบริการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน ครองแชมป์ค่าดัชนีเพิ่มสูงสุด ขณะที่ค่าดัชนีไตรมาส 2/2556 ปรับตัวลดลง ปัจจัยฉุดอยู่ที่การแข่งขันในตลาด ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อ รวมทั้งต้นทุนสินค้าและค่าแรง 
นายชาวันย์ สวัสดิ์ชู-โต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 46.8 จากระดับ 43.5 (เพิ่มขึ้น 3.3) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.1  45.9 และ 46.8 จากระดับ 48.9  43.0 และ 41.7 (เพิ่มขึ้น 0.2  2.9 และ 5.1) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44.6 และ 43.4 จากระดับ 25.6 และ 35.6 (เพิ่มขึ้น 19.0 และ 7.8) ตามลำดับ 

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีในเดือนมิถุนายน 2556 เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า สถานการณ์ด้านการบริโภคในภาพรวมน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ผลจากสถานการณ์ภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีผลผลิตการเกษตรยู่ที่ระดับ 136.07 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.28 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.60 จากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับดัชนีราคาผลผลิตการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น

         นอกจากนี้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวได้กลับมาคึกคัก โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวถึง 2.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.36 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกิจการด้านการจำหน่ายน้ำมัน รวมถึงบริการด้านการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน” นายชาวันย์ กล่าว 

เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 48.1 จากระดับ 47.4 (เพิ่มขึ้น 0.7) เนื่องจากสถานการณ์ภาคการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อการบริโภคโดยภาพรวม ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 49.5 จากระดับ 41.6 (เพิ่มขึ้น 7.9) เห็นได้จากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแทบทุกประเภท ภาคบริการ กิจการด้านการขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 49.7 และ 50.4 จากระดับ 36.6 และ 38.0 (เพิ่มขึ้น 13.1 และ 12.4) ผลจากสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.7 จากระดับ 48.6 (เพิ่มขึ้น 2.1) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยกิจการภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.9 50.7 และ 49.7 จากระดับ 51.3 48.4 และ 47.8 (เพิ่มขึ้น 1.6 2.3 และ 1.9) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.5 และ 50.7 จากระดับ 45.8 และ 45.6  (เพิ่มขึ้น 6.7 และ 5.1)  

ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.3 จากระดับ 43.0 (เพิ่มขึ้น 6.3) รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ 46.7 จากระดับ 40.8 (เพิ่มขึ้น 5.9) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 46.0 จากระดับ 42.5 (เพิ่มขึ้น 3.5) และภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 50.3 จากระดับ 47.0 (เพิ่มขึ้น 3.3) มีเพียงภาคใต้ ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 41.7 จากระดับ 43.6 (ลดลง 1.9) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของทุกภาคธุรกิจ ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่น TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ งวดประจำไตรมาส 2/2556 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2556 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 47.7 จากระดับ 49.2 (ลดลง 1.5) และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.3  46.6 และ 48.2 จากระดับ 49.7 48.5 และ 49.8 (ลดลง 0.4 1.9 และ 1.6) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.2 และ 45.9 จากระดับ 54.9 และ 52.5 (ลดลง 10.7 และ 6.6) ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ไตรมาสหน้า ค่าดัชนียังคงปรับตัวลดลง และเป็นการลดลงในทุกภาคธุรกิจเช่นกัน
อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs มีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อ การดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ภาวะการแข่งขันในตลาดโลก ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน ต้นทุนสินค้าและค่าแรงงาน การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ รวมทั้งราคาน้ำมันและค่าขนส่ง 

 

NEWS & TRENDS