กสอ. ปั้นเครือข่าย SMEs สร้างอำนาจต่อรองเวที AEC

กสอ. เผย เครือข่าย SMEs ช่วยผู้ประกอบการ ลดต้นทุน สร้างตลาดใหม่ เพิ่มอำนาจการต่อรองได้ 100% พร้อมปี 58 รุดหน้าเพิ่มสมาชิกนำร่อง ปี 57 อีกกว่า 100 กิจการ

 


กสอ. เผย เครือข่าย SMEs ช่วยผู้ประกอบการ ลดต้นทุน สร้างตลาดใหม่ เพิ่มอำนาจการต่อรองได้ 100%  พร้อมปี 58 รุดหน้าเพิ่มสมาชิกนำร่อง ปี 57 อีกกว่า 100 กิจการ
                นายโสภณ  ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจและการค้าการลงทุนในประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การแข่งขันเสรีมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีจำนวนกว่า 2,700,000 ราย ต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในตลาดโลก จากการทำการตลาดแบบเดิมสู่การตลาดในเชิงกลยุทธ์ต้องมีการวางแผน ตลอดจนการวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดเพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนขององค์กร 

ทั้งนี้ ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักที่ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. รวมถึงโครงการ DIP SMEs Network Forum เป็นหนึ่งในโครงการที่มีแนวคิดในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจแก่ SMEs เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกิจการในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการตลาด นวัตกรรมการผลิต ระบบการจัดการบุคลากร ฯลฯ ระหว่างองค์กรในภาคธุรกิจด้วยกันเอง 

ตลอดจนเป็นเวทีในการเปิดการค้าและการเจรจาทางธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดรับกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น  อันจะสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรให้สามารถผนึกกำลัง สร้างความเข้มแข็งแก่ SMEs ไทย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน รวมถึงสร้างอำนาจต่อรองให้กับอุตสาหกรรม  SMEs ไทย ในเวทีโลก โดยในปี 2556 โครงการ DIP SMEs Network Forum มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 140 กิจการ และในปี 2557 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 100 ราย 

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังจัดงาน “Industrial Forum” ซึ่งเป็นงานที่บูรณาการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในเชิงลึก ด้านการดำเนินงานตลาด การผลิต การพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการเงิน และพัฒนาเทคโนโลยี  ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย อาทิ กิจกรรมการสัมมนาและบรรยายพิเศษ  ในหลากหลายหัวข้อ อาทิ หัวข้อตลาดเปลี่ยนธุรกิจเปลี่ยน การคิดเชิงกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤติ การเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการด้านการเพิ่มผลิตภาพอย่างมีนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ฯลฯ กิจกรรมคลินิกอุตสาหกรรมที่ให้คำปรึกษาแนะนำในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถรักษาได้ในทุกอาการของธุรกิจ ตั้งแต่ปัญหาในขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจไปจนถึงปัญหาสภาวะทางการเงิน ขั้นวิกฤติของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสภาพการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนให้บริการข้อมูลของโครงการอื่น ๆ อีกกว่า 40 โครงการ อาทิ โครงการ NEC โครงการ EDIPP ฯลฯ  โดยงานดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้ประกอบการร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย

                สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนลุ้นรับรางวัลมากมาย อาทิ มินิไอแพด , บัตรที่พักฟรี จำนวน 2 คืน , เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ   ในวันที่ 6-7 สิงหาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ด้าน นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการ “DIP SMEs Network” กล่าวว่า ในปี 2554 เกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และผลกระทบ AEC ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการจากการสนับสนุนและริเริ่มของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก่อตั้งโดยมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นที่จะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งครอบคลุมทั่วประเทศมุ่งสู่การเป็นสภา SMEs ไทย โดย 5 หน้าที่หลักของเครือข่ายผู้ประกอบการ “DIP SMEs Network” ได้แก่

1.การซื้อและจำหน่ายสินค้าภายในกลุ่มเครือข่าย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในลักษณะพึ่งพาอาศัยระหว่างกลุ่มการค้าเครือข่าย ซึ่งผู้ที่ซื้อสินค้าภายในกลุ่มจะได้รับส่วนลดในอัตราที่พิเศษ และผู้จำหน่าย จะได้ประโยชน์จากยอดสั่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น

2.การศึกษาดูงานระหว่างกลุ่มเครือข่าย เพื่อเป็นการถ่ายทอดให้แก่กลุ่มผู้ที่อยู่ในเครือข่ายได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันถึงแม้ว่าแต่ละประเภทของธุรกิจจะมีความแตกต่างกัน แต่หลักพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจนั้น มีความเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการทรัพยากรการตลาดนวัตกรรมการผลิต ฯลฯ ฉะนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากในการนำเอาหลักแนวคิดและวิธีการต่าง ๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจของตนเอง

3.เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรในเครือข่ายกับภาครัฐ ซึ่งจะสร้างอำนาจในการต่อรองระหว่างผู้ประกอบการในเครือข่ายและรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

4.การสร้างเครือข่ายเพื่อจับคู่ทางธุรกิจ โดยได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่าย เพื่อทำการจับคู่การเจรจาการค้ากับคู่ค้าในต่างประเทศ (Business Matching) ล่าสุดได้มีการจับคู่การเจรจาการค้าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับ SMEs ในเครือข่ายและสร้างเม็ดเงินในธุรกิจการส่งออกได้อย่างมาก

5. สร้างเสถียรภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยการเชื่อมโยงให้เครือข่ายให้มีการพัฒนาในแบบบูรณาการกับทุก ๆ ด้าน เพื่อให้สามารถพร้อมรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 140 ราย และตั้งเป้าปี 2557 จะมีผู้เข้าร่วมโครงการอีกกว่า 240 ราย

        

NEWS & TRENDS