โพลล์ชี้ผู้ประกอบการเริ่มเครียดการเมือง-เศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจประจำเดือนก.ค. พบว่า ผู้ประกอบการเริ่มเห็นว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง จะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจประจำเดือนก.ค. พบว่า ผู้ประกอบการเริ่มเห็นว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง จะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา


การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของ ธปท. มาจาก 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน โดยให้น้ำหนักเท่ากันในทุกองค์ประกอบ ซึ่งผลสำรวจนี้ พบข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูง การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศ

"เป็นน่าสังเกตว่า ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี" รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธปท.ระบุไว้

สำหรับความเห็นจากการสำรวจในภาพรวมนั้น พบว่า เดือนก.ค.ที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาจากผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนนี้ลดลงจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 48.3 และความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและการผลิต อยู่ระดับต่ำสุดที่ 45.3 นับจากเดือนเม.ย. 2555

"ในเดือนก.ค.นั้น ผู้ประกอบการได้รับคำสั่งซื้อใหม่ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งคำสั่งซื้อในประเทศที่ชะลอตามการบริโภคภาคเอกชน และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า ในระยะต่อไปผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า จะได้รับคำสั่งซื้อใหม่โดยรวมเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันคำสั่งซื้อส่วนใหญ่มาจากในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ความเชื่อมั่นลดลงต่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ สะท้อนการคาดการณ์มูลค่าการส่งออกในอนาคตที่ชะลอลง"

นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุว่า ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานชี้ว่า ผู้ประกอบการยังคงมีการลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตามทิศทางของดัชนีมีแนวโน้มลดลงจากช่วงต้นปี

จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น และประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน สะท้อนจากดัชนีความยากในการหาแรงงานที่อยู่ต่ำกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในเดือนก.ค.แม้ว่าธุรกิจได้รับคำสั่งซื้อและผลิตลดลง แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และคาดว่าจะจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกใน 3 เดือนข้างหน้า

สัดส่วนผู้ที่ตอบว่าจะจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป มีจำนวนลดลงต่อเนื่องนับจากต้นปี สอดคล้องกับทิศทางความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในอนาคตที่ปรับลดลง

สำหรับองค์ประกอบด้านต้นทุนประกอบการยังคงต่ำกว่าระดับ 50 และปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

"ผู้ประกอบการเห็นว่าต้นทุนการผลิตในเดือนนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการที่ยังต่ำกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ที่ตอบว่าต้นทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามแนวโน้มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้น และข่าวการขึ้นราคาก๊าซ LPG"

ส่วนในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้น ผู้ประกอบการทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าภาวะธุรกิจจะปรับดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีที่ระดับ 53.3 และองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่ยังอยู่เหนือระดับความเชื่อมั่น

ทิศทางดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าเกือบทุกองค์ประกอบลดลงต่อเนื่องนับจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านการลงทุนที่พบว่าผู้ที่ตอบว่า จะลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมีจำนวนน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนความเชื่อมั่น ต่อภาวะธุรกิจในอนาคตที่ลดลงเป็นลำดับ

NEWS & TRENDS