จับตา 6 ปัจจัยเสี่ยงกระทบอุตฯครึ่งปีหลัง

กระทรวงอุตสาหกรรม จับตา 6 ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง ทั้งปัญหาต้นทุนค่าแรง-เศรษฐกิจชะลอตัว-วัตถุดิบเพิ่ม-แรงงานขาด-การแข่งขันในต่างประเทศ-ค่าเงิน ผวารัฐปรับขึ้นค่าแรงซ้ำ

 


กระทรวงอุตสาหกรรม จับตา 6 ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง ทั้งปัญหาต้นทุนค่าแรง-เศรษฐกิจชะลอตัว-วัตถุดิบเพิ่ม-แรงงานขาด-การแข่งขันในต่างประเทศ-ค่าเงิน ผวารัฐปรับขึ้นค่าแรงซ้ำ

นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการส่วนเตือนภัยอุตสาหกรรม สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักฯได้จัดทำแบบสอบถามผู้ประกอบการใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ จำนวน 300 ราย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงอุตสาหกรรมไทยครึ่งปีหลัง 2556 เทียบกับครึ่งปีแรก พร้อมเปรียบเทียบภาพรวมเศรษฐกิจกับปี 2555 และมาตรการที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ สนับสนุน พบว่า ผู้ประกอบการที่เห็นว่าเศรษฐกิจแย่ลงมีจำนวน 28.67%, ไม่เปลี่ยนแปลง 42% และมองว่าดีขึ้น 29.33%

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเศรษฐกิจกับปี 2555 พบว่า ส่วนใหญ่ 39.67% เห็นว่าทิศทางการผลิตแย่ลง, เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง ส่วน 34.33% เห็นว่าดีขึ้น

นายธีรทัศน์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมไทยครึ่งปีหลังมี 6 ปัจจัย โดย 1.ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกระทบมากที่สุด 28.03% อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนดังกล่าวมากที่สุด คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะใช้แรงงานเข้มข้น  โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมรับถึง 51% เพราะมองว่าเป็นนโยบายรัฐบาลทำให้ต้องแบกรับภาระดังกล่าว

2.ปัจจัยด้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะพึ่งพาการส่งออก โลหะ ยานยนต์ ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าลดลง 14% 

3.ปัจจัยราคาวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ อาหาร ยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม ทำต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น 15% กลุ่มนี้ไม่เตรียมพร้อมรับมือเพียง 19% เพราะเห็นว่าปัญหาดังกล่าวควบคุมไม่ได้ แต่เตรียมพร้อมรับมือถึง 80% เพราะใช้วิธีหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ราคาถูกลง 

4.ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการแข่งขันทางตลาดที่มีความรุนแรง อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ผลิตสินค้าลดลง 

5.ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทุกอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 13% ไม่ได้เตรียมรับมือถึง 48% เพราะเพิ่มค่าจ้างไม่ได้ อีก 51.6% รับมือโดยใช้เครื่องจักรแทน และ 6.ปัจจัยความผันผวนของค่าเงินบาท อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ มากคือ พลาสติก อัญมณี และสิ่งทอ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 9%

“จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด ผู้ประกอบการจึงต้องการให้รัฐบาลรักษาระดับอัตราค่าแรงไม่ให้สูงกว่านี้มากที่สุด เพราะกังวลว่าอนาคตอาจมีนโยบายเพิ่มค่าแรงอีก” นายธีรทัศน์กล่าว
 

NEWS & TRENDS