ลดภาษีแบรนด์ดังเหลือ 5% หนุนไทยแหล่งช็อป

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จะสรุปการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง เสื้อผ้าแบรนด์เนม รองเท้า และกระเป๋า จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีอยู่ 30% ให้เหลือแค่ 5% ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเท่ากับการจัดเก็บภาษีนาฬิกา ให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พิจารณาในปลายเดือนนี้

 


แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จะสรุปการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง เสื้อผ้าแบรนด์เนม รองเท้า และกระเป๋า จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีอยู่ 30% ให้เหลือแค่ 5% ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเท่ากับการจัดเก็บภาษีนาฬิกา ให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พิจารณาในปลายเดือนนี้

“ผลการศึกษาพบว่าไม่กระทบกับภาษีมากนัก แค่พันล้านบาท แต่กลุ่มเครื่องหนังของไทยอาจกระเทือนมาก จึงอาจจะไม่มีการปรับลดภาษีในกลุ่มกระเป๋า แต่น้ำหอม เครื่องสำอาง เสื้อผ้า จะลดลงแน่นอน ซึ่งจะทำให้ร้านดิวตีฟรีต้องปรับตัว เพราะต่อไปนักท่องเที่ยวซื้อที่ไหนในประเทศไทยก็ได้”แหล่งข่าวเปิดเผย

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการ ลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นแหล่งช็อปปิ้ง เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้เร่งดำเนินการ

นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะกล้าหาญลดภาษี 0% ให้กับทุกสินค้า หากทำได้จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลนี้เลยทีเดียว ภาษีที่เก็บได้จากส่วนนี้มีเพียงน้อยนิด เทียบไม่ได้กับโอกาสทางธุรกิจที่ไทยสูญเสียแก่คู่แข่ง เช่น มาเก๊า ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย

นายสุทธิเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องสร้างมิติใหม่ให้เป็นศูนย์บริการครบวงจร ไม่เช่นนั้นเราจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ มาเก๊า ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย เขาสู้เราด้านทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้ เขาจึงทำเป็นแหล่งช็อปปิ้ง และเพิ่มกาสิโนเพื่อหาจุดดึงดูดนักเดินทาง

“หากไทยทำเรื่องภาษีเพื่อดึงคนมาช็อปปิ้งสำเร็จ จะทำให้เรามีครบทุกอย่างที่ดึงดูดนักเดินทาง เพราะตอนนี้เราสู้คู่แข่งในอาเซียนไม่ได้ในด้านช็อปปิ้งอย่างเดียวเท่านั้น หากทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศได้อีกมาก”นายสุทธิเกียรติ กล่าว
 

NEWS & TRENDS