ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองงบลงทุน 2.0 ล้านล้านบาท จะกระจายงานก่อสร้างไปทั่วประเทศประมาณ 1.52 ล้านล้านบาท แนะเดินหน้าโครงการขนาดเล็กก่อน เพื่อให้เม็ดเงินออกสู่เศรษฐกิจภูธรและ SME
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองงบลงทุน 2.0 ล้านล้านบาท จะกระจายงานก่อสร้างไปทั่วประเทศประมาณ 1.52 ล้านล้านบาท แนะเดินหน้าโครงการขนาดเล็กก่อน เพื่อให้เม็ดเงินออกสู่เศรษฐกิจภูธรและ SME
เศรษฐกิจในประเทศส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน หลังจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 จากปีก่อนหน้าจากการส่งออกและการบริโภคที่ชะลอตัวลง และคาดว่า จีดีพีไตรมาส 3 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 แผนลงทุนภาครัฐ 2.0 ล้านล้านบาท เป็นมาตรการที่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ในการลงทุนภาครัฐครั้งนี้ เม็ดเงินก่อสร้างสูงถึง 1.52 ล้านล้านบาทจะกระจายไปยังภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยหากไม่นับเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคที่ได้รับเม็ดเงินก่อสร้างสูงสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 3.33 แสนล้านบาท ตามด้วยภาคกลางและเหนือจำนวน 3.26 และ 1.67 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายอาจล่าช้าในโครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนสูง และต้องมีการศึกษาวางแผนและผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน จึงมีโครงการขนาดเล็กบางส่วนที่น่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วกว่าทำให้งบก่อสร้างสามารถออกไปเศรษฐกิจภูธรได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ โครงการขนาดเล็กที่น่าเริ่มดำเนินการได้เร็วในปี 2557 มีจำนวน 61 โครงการ จากโครงการทั้งหมด 110 โครงการ มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 2.24 แสนล้านบาท
หากเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวมีการเบิกจ่ายได้รวดเร็ว จะส่งผลดีกับหลายกลุ่มธุรกิจ รวมถึงธุรกิจ SME ด้วย โดย SME กลุ่มแรกที่จะได้ผลดีจากการก่อสร้างโครงการต่างๆ คือ กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาฯที่มีคุณสมบัติและมีประสบการณ์ก่อสร้างโครงการภาครัฐมาก่อน หรือ อีกทั้งกลุ่มผู้รับเหมาฯรายกลางและเล็กยังมีโอกาสประมูลงานหรือรับเหมาสัญญาย่อยจากกลุ่มผู้รับเหมาฯขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หากเคยรับเหมาก่อสร้างสัญญาย่อยกับผู้รับเหมาฯ ขนาดใหญ่มาก่อน โดยมีผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วประเทศจำนวน 40,018 ราย ที่มีโอกาสรับอานิสงค์จากเม็ดเงินก่อสร้างผ่านโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ในแต่ละจังหวัด
กลุ่มถัดมาที่ได้รับประโยชน์แน่นอนคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศที่มีจำนวนถึง 18,185 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิต 2,513 ราย ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีก 15,672 ราย ทำให้ยอดผลิตและยอดขายวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูน ซีเมนต์ เสาเข็ม หิน ทราย เหล็ก เพิ่มสูงขึ้น ทว่า ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง กำลังเผชิญความท้าทายจากกลุ่มค้าปลีก-ค้าส่งวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ ที่รุกขยายสาขาไปยังภูมิภาคต่างมากขึ้น ดังนั้น SME นอกจากปรับตัวเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากงบลงทุน 2 ล้านล้านบาทแล้ว ยังต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย