สสว. โชว์ความสำเร็จรยกระดับ OTOP สู่ SMEs

สสว. แถลงผลการดำเนินโครงการยกระดับ OTOP สู่ SMEs เป็นไปตามเป้าหมาย สามารถยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ต้นแบบ สู่ SMEs ได้กว่า 59 ราย ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ สามารถสร้างยอดขายและคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ กว่า 20 ล้านบาท พร้อมเตรียมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 


สสว. แถลงผลการดำเนินโครงการยกระดับ OTOP สู่ SMEs เป็นไปตามเป้าหมาย สามารถยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ต้นแบบ สู่ SMEs ได้กว่า 59 ราย ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ สามารถสร้างยอดขายและคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ กว่า 20 ล้านบาท พร้อมเตรียมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า โครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพ ก้าวไปสู่ SMEs ระยะที่ 2 เป็นโครงการที่ สสว. ได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งคณะทำงานฯ ประกอบไปด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และสำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ (สป.พณ.) เพื่อต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัด ให้ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมแนวทางเพื่อให้สามารถผลักดันไปสู่ความเป็นผู้ประกอบการแบบมืออาชีพ 

“ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีกระบวนการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion : OPC) โดยมีการจัดระดับผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นระดับ 1-5 ดาว และสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ แต่การดำเนินการยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ผู้ประกอบการ OTOP 
ยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพได้ และไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีโครงการที่มาต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพในการประกอบการในแต่ละจังหวัด ให้ได้รับการพัฒนาส่งเสริมในแนวทางที่จะสามารถผลักดันไปสู่ความเป็นผู้ประกอบการแบบมืออาชีพ มีการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีการบริหารจัดการที่ดี มีช่องทางการจำหน่ายของตนเอง อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งความเชื่อมโยงกับชุมชน ท้องถิ่น และวัฒนธรรม รวมถึงเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ” นายชาวันย์ กล่าว 

โครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพ ก้าวไปสู่ SMEs ระยะที่ 2 สสว. ได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับการคัดสรรให้เป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย หรือ OPC ระดับ 4-5 ดาว ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ผ้า เครื่อแต่งกาย ของใช้ของประดับ ของตกแต่ง และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ รวม 59 ราย ที่ต้องการพัฒนาไปสู่การประกอบการที่มีระบบ โดยพิจารณาจากผู้ประกอบการที่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาแล้วสามารถช่วยสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมให้เกิดในชุมชนได้

  โดยมอบหมายให้หน่วยร่วมดำเนินการ ได้แก่ สถาบันพัฒนาวิสาหิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ และการตลาด ผ่านกระบวนการประเมินศักยภาพและจัดทำแผนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการ OTOP มีศักยภาพในก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยพึ่งพาตนเองเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ประกอบการสินค้า OTOP สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและรูปแบบทันสมัยตามแนวโน้มตลาด เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ OTOP ได้มีประสบการณ์และการเรียนรู้การทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อสร้างภาพลักษณ์สินค้า OTOP ให้เป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

“สสว. ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยร่วมดำเนินการ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้โครงการฯ สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 59 ราย ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สามารถสร้างยอดขายในประเทศ ตลาดต่างประเทศ และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากต่างประเทศ รวมกันกว่า 20,000,000 บาท” นายชาวันย์ กล่าว 

ทั้งนี้ โครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพ ก้าวไปสู่ SMEs ระยะที่ 2 ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญของ สสว. ที่มุ่งหวังจะยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ให้เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถ ทัดเทียมนานาประเทศ สามารถยกระดับกลายเป็นผู้ประกอบการ SMEs มืออาชีพ และยังก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจ 

ดังนั้น การดำเนินนโยบายในปีต่อๆ ไป สสว. จึงเน้นที่จะผลักดันโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP ให้มีการพัฒนารูปแบบการประกอบธุรกิจ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนาด้านกระบวนการผลิต การตลาด และรูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกในการพึ่งพาตนเองและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความพร้อม สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างเข้มแข็งอย่างแท้จริง
 

NEWS & TRENDS