เปิดแผน 3 ปีบสย. เร่งประชาสัมพันธ์ เพิ่มค้ำ SMEs

"วัลลภ เตชะไพบูลย์" เปิดแผนขับเคลื่อนบสย. มุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆให้มากขึ้น พร้อมเพิ่มยอดค้ำประกันในสินเชื่อรายใหม่เป็นร้อยละ 30

 


"วัลลภ เตชะไพบูลย์" เปิดแผนขับเคลื่อนบสย. มุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆให้มากขึ้น พร้อมเพิ่มยอดค้ำประกันในสินเชื่อรายใหม่เป็นร้อยละ 30
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  กล่าวว่า ตนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ บสย.ในการประชุมครั้งที่ 12/2556 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บสย. โดยมีอำนาจหน้าที่ตามสัญญาจ้างและพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534

บสย. เป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นขณะนี้มีมากกว่า 85% และ บสย.เริ่มดำเนินการค้ำประกันมาตั้งแต่ปี 2534-ปัจจุบันสามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนแล้วกว่า 9 หมื่นราย วงเงินค้ำประกันกว่า 3 แสนล้านบาท  

สำหรับอัตราส่วนการใช้บริการภาคเหนือคิดเป็น 20% ของการค้ำประกันทั้งประเทศ โดยจะอยู่ในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบสย.ไม่ได้เน้นภาคธุรกิจใดเป็นพิเศษ แต่ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่ไปติดต่อกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเป็นผู้ติดต่อกับบสย. ขณะที่ภาคกลางใช้บริการมากที่สุด  ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยตัวเลขสินเชื่อที่เกิดขึ้นใหม่ของเอสเอ็มอี 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งบสย.ได้ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 20%ของสินเชื่อที่เกิดใหม่

ขณะในปี 2557 มีเป้าค้ำประกันสินเชื่อใหม่ให้ได้ 30% โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกไม่ดี เศรษฐกิจในประเทศก็ยังไม่ดี ทางบสย.มีความสำคัญกับเอสเอ็มอีมาก เพราะแบงก์ไม่เชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บสย.จึงเป็นที่พึ่ง และเมื่อมีวิกฤติธุรกรรมของบสย.จะมากขึ้นด้วยในส่วนของความยั่งยืนของบสย.นั้น ตราบใดที่ยังช่วยเอสเอ็มอีได้ รัฐก็จะใช้บสย.เป็นเครื่องมือ

นายวัลลภเผยว่า แผนในอีก 3 ปีข้างหน้า บสย.จะต้องเป็นที่รู้จักมากขึ้นไม่ว่าจะผ่านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม พร้อมกับจะเพิ่มยอดค้ำประกันในสินเชื่อเอสเอ็มอีรายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในระบบต่อปีจากร้อยละ20 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 30 ในปี 2559  และอีก 3 ปีข้างหน้า บสย. จะมียอดการค้ำประกันสินเชื่อสะสมให้ได้ 6 แสนล้านบาทจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท  โดยในส่วนของโครงการ PGS 5 ซึ่งระยะเวลาการค้ำประกันตามระยะเวลา 3 ปีตอนนี้อนุมัติไป 5.6 หมื่นล้านบาท คาดหมด 2.4 แสนล้านบาท เพราะยังเหลือระยะเวลาการค้ำประกันถึงปี 2559

การค้ำประกัน บสย.ต่อจากนี้ไปจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆให้มากขึ้น  โดยการค้ำประกันของ บสย.จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการสร้างแบรนด์หรือยี่ห้อของตนเองเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันและออกสู่ตลาดโลกได้

แนวคิดในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ของบสย.ต้องการความรวดเร็ว คือ การให้การค้ำประกันเอสเอ็มอีกู้จากสถาบันการเงินได้และง่าย ภายในไม่เกิน 3 วัน เพื่อให้เอสเอ็มอีมีวงเงินสินเชื่อเพียงพอ ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ เป็นการลดจำนวนการไปกู้เงินนอกระบบ ทำให้อัตราความเสี่ยงในการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่ำ ประการสำคัญก็คือในเรื่องของการทำเครดิตเรตติ้ง ประเทศมีเครดิตเรตติ้ง บริษัทใหญ่มีเครดิตเรตติ้ง แต่ผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก ปัจจุบันไม่มี เราจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ ทำเครดิตเรตติ้งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเรตติ้งช่วยประโยชน์ให้กับเอสเอ็มอีที่ทำให้สถาบันการเงินเกิดความเชื่อมั่นและการกู้ก็จะง่ายขึ้นอีกด้วย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
 

NEWS & TRENDS