สศอ. หนุนสร้างสิ่งทอรักโลกปลุกกระแส "แฟชั่นสีเขียว"

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หนุน สถาบันฯ สิ่งทอ โชว์ต้นแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอรักโลก ปลุกกระแส “แฟชั่นสีเขียว” พร้อมขับเคลื่อน นโยบายหวังสร้างไทยเป็น“ศูนย์กลางการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม” ของ AEC ในปี 2014

 


สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หนุน สถาบันฯ สิ่งทอ โชว์ต้นแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอรักโลก ปลุกกระแส “แฟชั่นสีเขียว” พร้อมขับเคลื่อน นโยบายหวังสร้างไทยเป็น“ศูนย์กลางการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม” ของ AEC ในปี 2014 

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ หลายประเทศในโลกตระหนักถึงการลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยนำฉลากสิ่งแวดล้อมไปใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีการส่งเสริมการใช้สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงได้ดำเนินโครงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความรู้เรื่อง การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิต มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศ โดยโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือ

1.กิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฉลากสิ่งแวดล้อม และฉลากเขียว จัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับข้อกำหนดและวิธีการในการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์แก่โรงงานต่างๆ รวม 6 โรงงาน โดยผลลัพท์ที่ได้คือ ผลิตภัณฑ์ กระสอบพลาสติก PP สาน กระสอบพลาสติก HDPE สาน  เสื้อยืดคอกลมและเสื้อกล้าม สีขาว เบอร์ 38 เส้นทอฝ้าย 100% ลายผ้า M4850 เส้นด้าย 100% เฉดสีเทา ผ้าปูที่นอนฝ้าย 100% เฉดสีขาว ที่มีความพร้อมในการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฉลากสิ่งแวดล้อม และผลิตคู่มือ “การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ” เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. กิจกรรมการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยคุณสมบัติ และวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ ประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 12 โรงงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้นแบบได้อย่างหลากหลาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ อาทิ หมวกปีกกว้างทอจากเส้นใยกล้วยผสมฝ้าย เสื้อผ้าจากเส้นใยบัวผสมฝ้าย เสื้อที่มีส่วนผสมจากเส้นใยไผ่ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าไอแพด และชุดชั้นในที่มีแถบยางยืด จากเส้นด้ายซึ่งมาจากเส้นใยเซลลูโลสของเปลือกยูคาลิปตัส พรมถักจากเส้นด้ายวิสโคสซึ่งได้จากเปลือกต้นสน

และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภท Eco จากกระบวนการผลิต เช่น ทำจากวัสดุเหลือใช้ วัสดุรีไซเคิล และจากกระบวนการลดใช้พลังงาน อาทิ เสื้อโปโลจากขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล เสื้อกีฬาแบบลำลองที่ใช้ผ้าที่ย้อมโดยไม่ใช้น้ำและการใช้ผ้าที่ลดอุณหภูมิ เก้าอี้นั่งเอนกประสงค์จากผ้าถักเหลือใช้ในการผลิตผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ พร้อมจัดทำคู่มือ “การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักออกแบบและผู้สนใจ

โดยการดำเนินงานทั้งสองกิจกรรมจะสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสามารถแข่งขันได้ เตรียมพร้อมพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม ของภูมิภาคอาเซียนในปี 2014 และก้าวต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการ“การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์  0 2713 5492 – 9 ต่อ 546,400
 

NEWS & TRENDS