ลูกค้าแห่ถอนเงิน SME Bank เจอปัญหาขาดสภาพคล่อง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากมีการถอนเงินฝากออกจำนวนมาก เพราะเป็นเงินฝากระยะสั้น ซึ่งได้มีการดูแลให้มีการปรับโครงสร้างเงินฝากเป็นระยะกลางและยาวเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องขึ้นอีก




    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากมีการถอนเงินฝากออกจำนวนมาก เพราะเป็นเงินฝากระยะสั้น ซึ่งได้มีการดูแลให้มีการปรับโครงสร้างเงินฝากเป็นระยะกลางและยาวเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องขึ้นอีก

    นอกจากนี้ สศค.ยังได้ขอความร่วมมือไปยังสภาธนาคารรัฐที่มีธนาคารออมสินเป็นประธาน ได้เตรียมสภาพคล่องไว้ให้ หากมีปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและขอสินเชื่อ ว่าธนาคารสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
   
    นายสมชัยกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าเอสเอ็มอีแบงก์จะมีปัญหาการดำเนินงานภายในมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนโยบาย แต่ทาง สศค.ในฐานะที่ดูแลนโยบายของธนาคารรัฐ ถือเป็นเรื่องภายในที่ธนาคารต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับธนาคารและลูกค้า โดย สศค.จะประเมินผลงานของธนาคารตาม KPI ที่วางไว้ว่าสามารถทำได้หรือไม่

    ด้านนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ประธานเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า การดูแลสภาพคล่องเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องแก้ไขไม่ให้มีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้ความสัมพันธ์ของประธาน และประธานบริหารของเอสเอ็มอีแบงก์ ดึงเงินฝากจากรัฐวิสาหกิจให้มาฝากเงินกับธนาคาร เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของธนาคาร

    ด้านนายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า เดือนที่ผ่านมาธนาคารมีปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากบริหารเงินฝากไม่ถูกต้อง จนต้องมีการกู้เงินระยะเวลา 1 วัน กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจำนวน 400 ล้านบาท และครั้งหลังจำนวน 600 ล้านบาท โดยปัจจุบันสภาพคล่องของธนาคารมีเพียงพอแล้วที่ประมาณ 2 พันล้านบาท

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผู้ฝากเงินของเอสเอ็มอีแบงก์มีการถอนเงินออกอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มั่นใจในฐานะการดำเนินงานของธนาคาร โดยเอสเอ็มอีมีปัญหาความขัดแย้งของกรรมการกับฝ่ายบริหาร เนื่องจากกรรมการของธนาคารเข้ามาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหารมากเกินไป ขณะที่ไอแบงก์ก็มีปัญหาภายในรักษาการกรรมการผู้จัดการลาออก เพราะไม่พอใจฝ่ายนโยบายที่ไม่จริงใจแก้ปัญหาธนาคาร และปัจจุบันยังไม่สามารถหากรรมการผู้จัดการคนใหม่ได้

    ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคการเงินมีส่วนช่วยภาคครัวเรือนสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งการรับผิดชอบในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ความโปร่งใส และไม่จูงใจให้ภาคครัวเรือนขาดวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจสร้างความเสียหายกับคนจำนวนมาก และนำไปสู่ความน่าเชื่อถือต่อวินัยทางการเงินของประเทศ

     “การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่บิดเบือนความเข้าใจผู้ใช้บริการและจูงใจให้กู้ยืม โดยผู้กู้ไม่ได้มีความสามารถในการชำระคืนนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมมากมาย ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับประเทศ” นายประสารกล่าว.


ที่มา : ไทยโพสต์

NEWS & TRENDS