ภาคธุรกิจออกโรงค้าน พ.ร.บ.ล้างผิดคดีคอร์รัปชั่น

ในขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยยังคงยืนกรานเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... แม้จะมีเสียงค้านจากหลายฝ่าย กรณีที่มีการแปรญัตติเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 3 และ 4 จนทำให้ตีความได้ว่าเป็นการล้างผิดในคดีความหลังการรัฐประหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกคดี และอาจต้องคืนทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยที่ศาลเคยยึดไว้จากอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ด้วยนั้น



    ในขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยยังคงยืนกรานเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... แม้จะมีเสียงค้านจากหลายฝ่าย กรณีที่มีการแปรญัตติเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 3 และ 4 จนทำให้ตีความได้ว่าเป็นการล้างผิดในคดีความหลังการรัฐประหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกคดี และอาจต้องคืนทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยที่ศาลเคยยึดไว้จากอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ด้วยนั้น

    ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาชน และองค์กรระหว่างประเทศ 47 องค์กร ได้เตรียมออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวันที่ 28 ต.ค.นี้

    นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาชิกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงผู้แทนจากภาคธุรกิจในตลาดเงินและตลาดทุนทั้งหมด ตลอดจนผู้ใหญ่ในสังคม จะร่วมกันแถลงจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชัน ที่โรงแรมอโณมา วันที่ 28 ต.ค.นี้ โดยภายในงานนอกจากตัวแทนองค์กรเครือข่ายทั้งหมดแล้ว ยังจะมีนักวิชาการรุ่นใหม่จากหลากหลายสำนักมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

    "จุดยืนของเราไม่ได้ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ทั้งฉบับ แต่เราเน้นเฉพาะเรื่องนิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชัน เพราะประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศมาก เนื่องจากคดีที่อยู่ในห้วงเวลาที่มีโอกาสได้รับการนิรโทษ มีคดีทุจริตหลายคดี เช่น คดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย คดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง รวมไปถึงคดีของคุณทักษิณ และคดีอื่นๆ อีกหลายคดี" นายมานะ กล่าว

    องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เกิดจากการริเริ่มของภาคเอกชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังเป็นปัญหาเลวร้ายที่บั่นทอนการพัฒนาของประเทศ เดิมใช้ชื่อว่า "ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน" มีองค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมจำนวน 23 องค์กร ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีสมาชิกเพิ่มเป็น 47 องค์กร และกำลังรณรงค์กิจกรรม "เดิน วิ่ง ปั่น ต้านโกง" ในวันที่ 15 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

NEWS & TRENDS