สศช.ชี้ว่างงานเพิ่ม สถิติคนเป็นหนี้หัวละ 1.5 แสน

สศช.เผย จีดีพีสังคมไตรมาส 3 เศรษฐกิจชะลอพ่นพิษ ว่างงานเพิ่ม คนจนหนี้ท่วมหัว เผยสถิติคนกรุงเป็นหนี้หัวละ 1.5 แสน แถมกู้นอกระบบ ซดดอกเบี้ยสูงลิ่วเฉียด 60% ต่อปี ชี้เข้าไม่ถึงประชานิยมรัฐ ทั้งลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าก๊าซ

 


สศช.เผย จีดีพีสังคมไตรมาส 3 เศรษฐกิจชะลอพ่นพิษ ว่างงานเพิ่ม คนจนหนี้ท่วมหัว เผยสถิติคนกรุงเป็นหนี้หัวละ 1.5 แสน แถมกู้นอกระบบ ซดดอกเบี้ยสูงลิ่วเฉียด 60% ต่อปี ชี้เข้าไม่ถึงประชานิยมรัฐ ทั้งลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าก๊าซ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยในไตรมาสสาม ปี 2556 ว่า การจ้างงานลดลง 1.2% เป็นการลดลงทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 0.77% สาเหตุจาก 2 ประเด็นคือ 1.เศรษฐกิจชะลอตัวลง 2.กำลังแรงงานลดลง แม้ว่าอัตราการว่างงานสูงขึ้นในระดับ 0.77% แต่ยังเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำและไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมและเสถียรภาพเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในช่วงไตรมาสที่สาม ปี 2556 เพิ่มขึ้น 11.1% จากช่วงเดียวกันปี 2555 ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 1.7% ทำให้ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนแท้จริงเพิ่มขึ้น 9.3% ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 3.9 %

สำหรับประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังจากนี้ ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวลงและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการขยายตำแหน่งงาน 2.การขาดแคลนแรงงานระดับล่างในสาขาก่อสร้าง แม้ในปัจจุบันจะมีการทำข้อตกลงเพื่อนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวต้องใช้เวลานาน ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการทั้งการวางแผนล่วงหน้าในการนำเข้าแรงงานต่างชาติ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีแทนการใช้แรงงานเด็กที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยยังคงมีโอกาสทางการศึกษาน้อย 

สำหรับภาวะค่าครองชีพ สถานการณ์และแนวโน้มผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง พบว่าผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมีรายได้เฉลี่ย 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยของผู้อยู่ในเมือง มีผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง 2.5 ล้านครัวเรือน หรือ 9 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,248 บาทต่อคน หรือเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยของผู้ที่อยู่ในเมือง และต่ำกว่ารายจ่ายเฉลี่ยที่ 3,642 บาทต่อคน ขณะที่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย 44% มีหนี้สินโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 122,486 บาท ขณะที่กรุงเทพฯมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดคือ 232,223 บาทต่อครัวเรือน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงสุดคือ 55.41% 

ทั้งนี้ การปรับตัวต่อภาวะค่าครองชีพในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าด้านเศรษฐกิจผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองกว่า 3 ใน 4 ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้และรายจ่าย เกือบครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และ 3 ใน 5 ของประชากรตัวอย่างมีหนี้สิน ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่สามารถผ่อนชำระได้ 81.4% โดย 18.6% รายงานว่าเป็นหนี้ที่เป็นภาระหนักไม่สามารถผ่อนชำระได้ ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมีหนี้สินเฉลี่ย 149,229 บาท จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 31.32% ต่อปี แหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน 65% ขณะที่เป็นการกู้นอกระบบ 17% โดยผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงกว่าเท่ากับ 59.45% ต่อปี ขณะที่ในภูมิภาคจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ย 27.76% ต่อปี

"ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองถึง 1 ใน 5 ที่ไม่สามารถพึ่งพาใครได้เลย ตลอดจนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องการควบคุมราคาสินค้า การลดค่าน้ำค่าไฟและราคาน้ำมันหรือก๊าซหุงต้ม แม้ว่ารัฐจะมีการช่วยเหลือแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้" นายอาคมกล่าว 


ที่มา : นสพ.มติชน

NEWS & TRENDS