3 องค์กรร่วมมือผลักดัน SMEs ตื่นตัวรับมือภัยพิบัติ

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมระดับชาติเพื่อหารือบทบาทของภาคเอกชนในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ว่า จากปัจจุบันที่ภัยทางธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงแก่ธุรกิจระดับเอสเอ็มอี เช่น อุทกภัยปี 2554 หรือสึนามิ เป็นต้น ซึ่งถึงปัจจุบันเอสเอ็มอีจำนวนที่ได้ผลกระทบต้องปิดตัวเอง และอีกหลายรายยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ดังนั้น 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) และ สสว.จึงร่วมกันจัดประชุมหารือและวางแผนป้องกันความเสี่ยงของภัยพิบัติที่จะเกิดแก่เอสเอ็มอีในอนาคต

 


ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมระดับชาติเพื่อหารือบทบาทของภาคเอกชนในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ว่า จากปัจจุบันที่ภัยทางธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงแก่ธุรกิจระดับเอสเอ็มอี เช่น อุทกภัยปี 2554 หรือสึนามิ เป็นต้น ซึ่งถึงปัจจุบันเอสเอ็มอีจำนวนที่ได้ผลกระทบต้องปิดตัวเอง และอีกหลายรายยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ดังนั้น 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) และ สสว.จึงร่วมกันจัดประชุมหารือและวางแผนป้องกันความเสี่ยงของภัยพิบัติที่จะเกิดแก่เอสเอ็มอีในอนาคต

สำหรับแนวทางในการป้องกันแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่ 1 เร่งผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกัน ช่วยเหลือ รวมถึงเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปแบบชัดเจนเป็นมาตรฐาน เหมือนเช่นในต่างประเทศชั้นนำที่จะมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน เช่น ด้านกฎหมาย รูปแบบความช่วยเหลือ การซื้อประกันความเสี่ยง เงินช่วยเหลือ ฯลฯ

“ในต่างประเทศจะมีมาตรฐานความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ชัดเจน ต่างกับประเทศไทยเวลานี้ที่เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นค่อยจะมีการประชุมกันเพื่อหาทางช่วยเหลือ ซึ่งอาจช้าเกินแก้ไข และไม่ทั่วถึง แต่ถ้ามีการวางมาตรการอย่างชัดเจนก็จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีลดความเสี่ยงหรือลดผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤตต่างๆ ได้” รอง ผอ.สสว.กล่าว และเผยต่อว่า

สำหรับประเด็นที่ 2 คือ การผลักดันในส่วนของตัวผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอง ต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนป้องกันรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเอสเอ็มอีไม่มีการวางแผนมาก่อนเมื่อเกิดผลกระทบขึ้นจึงยากจะรับความเสี่ยงได้ แต่หากได้มีการวางแผนล่วงหน้า เช่น สำรองแหล่งผลิต สำรองเงินทุน มีแผนเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นต้น อย่างน้อยจะช่วยให้บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และยังทำให้ธุรกิจสามารถจะประคองเดินไปได้แม้จะเกิดภัยทางธรรมชาติ

“ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง เอสเอ็มอีโดยเฉพาะระดับเล็กแทบจะไม่เคยคิดล่วงหน้าเพื่อรับภัยพิบัติมาก่อนเลย แต่จากผลกระทบของภัยธรรมชาติที่เราพบเห็น มันทำให้รู้ว่า ภัยธรรมชาตินับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ภัยน้ำท่วมในเมืองไทย พายุที่ฟิลิปปินส์ ดังนั้น ตัวเอสเอ็มอีเองควรตื่นตัวหันมาเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น” ดร.วิมลกานต์กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของ สสว.ได้ผลักดันให้เอสเอ็มอีหันมาตื่นตัวเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งเบื้องต้นได้ทำโครงการนำร่องในปีนี้ด้วยการคัดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นประจำ จำนวน 200 ราย เข้ามารับการอบรมถึงการเตรียมพร้อมวางแผนธุรกิจต่อเนื่องเพื่อรับความเสี่ยง และคาดหวังว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้เอสเอ็มอีรายอื่นๆ หันมาตื่นตัวเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติด้วย

นอกจากนั้น ยังให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเสนอความต้องการไปสู่หน่วยงานรับผิดชอบเพื่อให้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่จะออกมาตรงต่อความต้องการอย่างแท้จริง

ที่มา : ASTV ผู้จัดการ
 

NEWS & TRENDS