สสว.เปิดแผนปี 57 มุ่งยกระดับ OTOP ขึ้นสู่ SMEs

สสว.ปรับจีดีพีเอสเอ็มอีแผน 5 ปี จาก 38% เป็น 40% มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท ปี’57 เล็งผุดร้านจำหน่าย-ศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค/อาเซียน ยกเครื่องระบบข้อมูลเพื่อเกาะติดสถานะผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด ลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง


สสว.ปรับจีดีพีเอสเอ็มอีแผน 5 ปี จาก 38% เป็น 40% มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท ปี’57 เล็งผุดร้านจำหน่าย-ศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค/อาเซียน ยกเครื่องระบบข้อมูลเพื่อเกาะติดสถานะผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด ลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง

  นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)แถลงนโยบายและทิศทางการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นเวลา 1 เดือน ว่า สสว.เตรียมปรับเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอี เป็น 40% ของจีดีพีประเทศ ภายในแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2555-2559) ที่กำหนดไว้ที่ 38% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท โดยจะกำหนดแนวทางดำเนินการภายใน 6 เดือนหลังจากนี้

สำหรับนโยบายการทำงานภายในปี 2557 สสว.จะยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์(โอท็อป) ก้าวสู่การเป็นเอสเอ็มอีผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการยกระดับผู้ประกอบการโอท็อปแบบบูรณาการ (โอท็อปพลัส) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการโอท็อปสู่เอสเอ็มอี โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 11,000 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่

น้อยกว่า 2,100 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะเกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 620 ล้านบาท และให้ความช่วยเหลือโดยการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ 29,245 ราย ในวงเงินสินเชื่อประมาณ 12,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ภายใน 6 เดือน จะผลักดันให้มีร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อป พลัส ในย่านใจกลางกรุงเทพฯอย่างน้อย 1 ร้าน เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าได้สะดวกและจัดตั้งเอสเอ็มอีเซ็นเตอร์ภายใน 1 ปี เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีมีศูนย์การจำหน่ายสินค้าหลักของประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน โดยอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายหนึ่งของไทย เพื่อให้เซ็นเตอร์ดังกล่าวจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอี และเป็นศูนย์ให้ข้อมูลด้านความรู้ การพัฒนาสินค้า หาตลาดใหม่ โดยจะเชื่อมโยงกับศูนย์เอสเอ็มอีในต่างจังหวัดสำคัญของประเทศที่จะจัดตั้งเช่นกัน อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในจ.ขอนแก่น หรือ จ

.อุดรธานี ภาคใต้ ตั้งอยู่ใน จ.สงขลา หรือ จ.สุราษฎร์ธานี และภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ทำให้จำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีของพื้นที่หนึ่งในอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศสะดวกและมีตลาดรองรับแน่นอน และสามารถส่งสินค้าขายต่างประเทศโดยสสว.จะประสานตลาด และลูกค้าที่จะเข้ามาชมสินค้าที่เซ็นเตอร์เอสเอ็มอีในไทย

พร้อมกันนี้จะปรับระบบข้อมูลเอสเอ็มอีในประเทศและในอาเซียน โดยในประเทศจะปรับข้อมูลการติดตามเอสเอ็มอีไทยที่มีทั่วประเทศประมาณ 2.7 ล้านรายทุก 1 เดือน จากเดิมจะติดตามข้อมูลทุก 3 เดือน เพื่อให้ทราบผลกระทบอย่างใกล้ชิดหากเกิดปัญหา อาทิ เศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมือง ขณะที่ข้อมูลต่างประเทศจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจข้อมูลประเทศอาเซียนทั้งหมดเพื่อให้สสว.เป็นหน่วยงานพัฒนาเอสเอ็มอีของอาเซียนปี 2560 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ลงสำรวจข้อมูลในสหภาพเมียนมาร์และสปป.ลาวแล้ว

ส่วนการขยายโอกาสทางการตลาดในต่างประเทศจะประสานกับหน่วยงานด้าน SMEs รวมถึงสภาหอการค้าในต่างประเทศ ทั้งกลุ่มประเทศสมาชิก AEC กลุ่ม ASEAN+6 กลุ่ม APEC SMEs รวมถึงกลุ่มตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา SMEs รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้า-การลงทุนให้กับผู้ประกอบการล่าสุดได้ประสานกับหน่วยงานด้าน SMEs ของประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เยอรมนี แอฟริกา ฯลฯ ในการดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามปี 2557 สสว.ได้รับอนุมัติงบประมาณ 838.95 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยโดยการจัดทำแผนและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการส่งเสริม SMEs การผลักดันส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาผลิตภาพของผู้ประกอบการ SMEs การพัฒนาผู้ประกอบการด้านศิลปหัตถกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

 

NEWS & TRENDS