สสว.ระดมพันธมิตรเปลี่ยนโฉมหน้าส่งเสริม SMEs ไทย

สสว.เผยผลการศึกษาการส่งเสริม SMEs แนวทางใหม่ ระบุกลุ่มบริการสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหาร ท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มมีทิศทางเติบโตและมีศักยภาพสูงในอนาคต เดินหน้าจับมือหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนวางแนวทางมุ่งส่งเสริมกลุ่มดังกล่าวอย่างครบวงจร

 


สสว.เผยผลการศึกษาการส่งเสริม SMEs แนวทางใหม่ ระบุกลุ่มบริการสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหาร ท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มมีทิศทางเติบโตและมีศักยภาพสูงในอนาคต เดินหน้าจับมือหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนวางแนวทางมุ่งส่งเสริมกลุ่มดังกล่าวอย่างครบวงจร
       
       ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว.ได้มอบหมายให้วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการศึกษา เปรียบเทียบแนวทางการส่งเสริม SMEs ระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่เป็นกรณีตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 13 ประเทศทั่วโลก พร้อมกับได้วิเคราะห์หากลุ่มตัวอย่าง SMEs ที่มีการเติบโตสูง (High Growth SMEs) โดยวิเคราะห์จากแนวโน้มการพัฒนาของโลก ศักยภาพ และทิศทางนโยบายของประเทศไทย
       
       ทั้งนี้ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ากลุ่มการบริการด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วน และกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจสนับสนุน เช่น การวิจัยและพัฒนาของประเทศ คือ กลุ่ม SMEs ที่มีการเติบโตและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงในตลาดโลก และภูมิภาค
       
       ผอ.สสว.กล่าวเสริมว่า SMEs ที่มีการเติบโตสูง คือ SMEs ที่มีการเติบโตของผลประกอบการหรือพนักงานสูงกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากเป็นเฟืองจักรใหม่ในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไป เพื่อเข้ามาทดแทนภาคอุตสาหกรรม การค้า หรือบริการที่ประเทศไทยเริ่มสูญเสียประสิทธิภาพในการแข่งขัน โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหลายประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศใกล้เคียง อย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs กลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีพลวัตในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น และที่สำคัญคือ สามารถสร้างการจ้างงานที่มีคุณภาพ และผลตอบแทนสูงให้แก่ประเทศ
       
       ด้วยเหตุนี้ สสว.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อันประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ในการให้การส่งเสริม SMEs ที่มีการเติบโตสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
       
       โดยตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เช่น สสว. และ สวทช. จำเป็นต้องเข้ามาช่วยในส่วนที่กลไกของตลาดไม่สามารถให้การช่วยเหลือ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรม โดยมีภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นผู้กำหนดความต้องการ และแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย จะเข้ารับช่วงต่อในการให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจร
       
       “การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรับโฉมหน้าการส่งเสริม SMEs ของประเทศไทย โดยเป็นการให้การสนับสนุนที่คำนึงถึงทุกความต้องการในทุกระดับของการเติบโตขององค์กร” นายปฏิมากล่าว


       

NEWS & TRENDS