บอร์ด กนอ.สรุปยอดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กนอ.มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ มีการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริหารด้านโลจิสติกส์

 


นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กนอ.มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ มีการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริหารด้านโลจิสติกส์ 

อ.เชียงของ จ.เชียงราย และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ตามที่ กนอ.ได้ประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนยื่นเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน 8 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม อุบลราชธานี สกลนคร มุกดาหาร และหนองคาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีเอกชนที่สนใจยื่นเสนอทั้งสิ้น 28 โครงการ แยกเป็น นิคมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงการ นิคมฯ เชียงของ 4 โครงการและนิคมฯ เอสเอ็มอี 18 โครงการ

“คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าวที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นมีจำนวน 13 โครงการ และได้ขอให้ผู้เสนอโครงการจัดส่งแผนธุรกิจภายใต้หัวข้อที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่กำหนด และนำมาพิจารณาให้คะแนนกับผู้ที่มีความพร้อมจากมากเรียงตามลำดับลงไปให้ได้รับสิทธิในการจัดตั้งนิคมฯ ก่อน”

แหล่งข่าวจาก กนอ. เปิดเผยว่า สำหรับการจัดตั้งนิคมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำหนดไว้ใน 8 จังหวัดนั้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่กลั่นกรองออกมาแล้ว ปรากฏว่ามีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งเพียง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุดรธานี มีบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด มีคะแนนนำเป็นที่ 1 เนื่องจากมีความพร้อมด้านสถานที่และเงินลงทุน โดยทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีพื้นที่พัฒนาจำนวน 2 พันไร่ ตั้งอยู่ อ.เมือง จ.อุดรธานี แบ่งเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรม 1.35 พันไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 650 ไร่ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4.250 พันล้านบาท

โดย จ.หนองคาย มีผู้ผ่านเกณฑ์ 2 ราย ได้แก่ บริษัท นาคา คลีนเพาเวอร์ จำกัด และบริษัท โรยัล เอ็กเปรส ทรานซ์สปอร์ต แอนด์ โลจิสติกส์ และ จ.นครราชสีมา มีผู้ผ่านเกณฑ์ 2 ราย ได้แก่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมพลังงาน จำกัด และบริษัท โรงแรมโกลเด้น แลนด์ จำกัด ส่วนนิคมฯ เชียงของ มีผู้ผ่านเกณฑ์ 2 ราย ได้แก่ บริษัท เมืองเงิน ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด และบริษัท นานัป จำกัด

สำหรับการจัดตั้งนิคมฯ เอสเอ็มอี มีผู้ผ่านเกณฑ์ 6 ราย เรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จ.ระยอง บริษัท อีสเทร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียล เอสเตท จ.ระยอง บริษัท สวนอุตสาหกรรมพลังงาน จำกัด จ.นครพนม บริษัท อเมริกัน บิวเดอร์ จำกัด จ.ชลบุรี บริษัท โรงแรมโกลเด้น แลนด์ จำกัด จ.นครราชสีมา และบริษัท เอ็นเนอยี่ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด จ.หนองคาย

ที่มา : บ้านเมือง

NEWS & TRENDS