3 องค์กรจับมือชูโมเดลญี่ปุ่นร่วมพัฒนา SMEs ไทย

ส.ส.ท.- iSMED และ ATSME ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานต่อโครงการเชื่อมโยงและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น หรือ J-SMEs เพื่อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่น



ส.ส.ท.- iSMED และ ATSME  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานต่อโครงการเชื่อมโยงและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น หรือ J-SMEs เพื่อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่น     
  
    รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่นหรือ ส.ส.ท. ซึ่งเป็น 1 ใน 3 องค์กรดังกล่าวได้เปิดเผยถึงบทบาทและความร่วมมือภายใต้โครงการเชื่อมโยงและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่นหรือ J-SMEs ว่า เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่น     

    ดังนั้นจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้าน หรือ "อาเบะโนมิกส์" ที่เน้นส่งเสริมให้อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ญี่ปุ่นขยายการลงทุนในต่างประเทศ และเพิ่มกำลังการซื้อภายในประเทศ โดยมีเป้าหมาย 50,000 บริษัทในประเทศอาเซียนภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนในประเทศไทยตั้งเป้าประมาณ 5,000 บริษัท โดยจะเริ่มในเดือนเมษายน 2557 จึงน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยอันเนื่องมาจากโครงการความร่วมมือดังกล่าวอีกด้วย

    "แผนงานต่อจากนี้ไปจะเปิดคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มีความสนใจ มีความพร้อมและมีศักยภาพเพื่อเข้ามาอบรมความรู้ ตลอดจนพาไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และพาพบภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเพื่อหวังให้เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน"รศ.ดร.สุจริตกล่าว 

    ส่วนรูปแบบธุรกิจที่นำเสนอให้กับประเทศไทยมี 4 รูปแบบ ได้แก่  1. เพื่อทำชิ้นส่วนบางส่วนส่งให้ญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีค่าแรงที่สูง แต่ใช้วัสดุและเครื่องมือให้ตรงตามสเปกของทางญี่ปุ่น  2.ซื้อเฉพาะ knowhow โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมาควบคุมคุณภาพการผลิตที่โรงงานในไทยและถ่ายทอดเทคโนโลยีบางอย่างที่สินค้าญี่ปุ่นต้องการ  3. Joint Venture ในลักษณะ local market ซึ่ง local market ผู้ประกอบการ SMEs สนใจน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ขายให้กับตลาดที่มีอยู่แล้ว และ 4. ซื้อสิทธิบัตร"  นายกสมาคม ส.ส.ท.กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังต้องสำรวจด้วยว่าใน 4 รูปแบบข้างต้น ผู้ประกอบการไทยสนใจลงทุนในรูปแบบใดก่อนที่จะลงมือทำ business matching 

    นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ iSMED กล่าวเสริมว่า SMEs ไทยควรมีโอกาสศึกษา SMEs ของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดย SMEs ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เข้ามาตั้งใจหาพันธมิตร หาคู่ค้า หรือแม้แต่หาผู้ร่วมทุนเพิ่มขึ้น จึงมองว่าการเข้ามาร่วมกันพัฒนาและเปิดโอกาสกับ SMEs ไทยให้มากขึ้นเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่ iSMED ต้องทำ ไม่เพียงแต่พัฒนาให้แข็งแรงและเพิ่มขีดความสามารถเท่านั้น จำเป็นที่จะต้องช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เชื่อมโยงความเป็นเพื่อน และช่วยให้ธุรกิจขยายการเติบโตร่วมกันเป็น SMEs ที่มีความแข็งแรงยั่งยืน    

    "ตั้งแต่ผมมาบริหาร iSMED ผมมองว่าเราใช้ keyword 3 ตัว ในการบริหารจัดการทั้งหมด เพื่อความสำเร็จของ SMEs คือ created สร้างหลักสูตรที่ดี สร้างโอกาสให้กับ SMEs เพื่อการเติบโตของธุรกิจ ขยายธุรกิจได้อย่างมั่นคง  connect การเชื่อมโยง การจับมือกัน การร่วมมือกัน ให้คนที่เก่งแต่ละด้านมาพัฒนาร่วมกัน และ contribute เมื่อเราเก่งแล้ว เชื่องโยงแล้ว แข็งแรงแล้ว จึงนำมาสู่การแบ่งปัน ซึ่งการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 องค์กร จะช่วยให้ SMEs ไทยเกิดความสำเร็จ โดยเฉพาะสมาคมส.ส.ท. ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ"  

    ด้านนางสาวเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 3 องค์กรเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทางสมาคมก็เป็นหน่วยงานที่มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาเป็นเวลา 32 ปี มีสมาชิกที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 8,000 ราย และมีสมาชิกสมทบที่เป็น OTOP SMEs ประมาณ  3,000 ราย
 
    "ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็น SMEs ที่เข้มแข็งและมีบุคลากรที่ทรงคุณค่าด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งจากการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง 3 หน่วยงานดังกล่าว จึงมีความเชื่อมั่นว่า จะสามรรถพัฒนาผู้ประกอบการ SMEsไทย ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ"

ที่มา  : ฐานเศรษฐกิจ


NEWS & TRENDS