คลังจ่อยกเครื่องแบงก์รัฐแก้ SMEs หาแหล่งเงินทุนยาก

คลังจ่อยกเครื่องบทบาทแบงก์รัฐใหม่ยกแผง พร้อมปรับ-เพิ่มบทบาทการทำงานให้ชัดเจน หวังแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น



คลังจ่อยกเครื่องบทบาทแบงก์รัฐใหม่ยกแผง พร้อมปรับ-เพิ่มบทบาทการทำงานให้ชัดเจน หวังแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น

    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐระยะที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน และการเพิ่มความมั่นคงในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของแต่ละสถาบันการเงิน รวมถึงพัฒนาระบบการกำกับดูแลและบรรษัทภิบาลควบคู่กันไป โดยขณะนี้ได้มีการเสนอแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงทางการเงิน ร่างกฎหมายกลาง และร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมดให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลังพิจารณาแล้ว

    ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปเบื้องต้นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดช่องว่างทางการเงิน โดยการปรับบทบาทของแต่ละสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้ตรงกับหน้าที่ในการปิดช่องว่างทางการเงินในระบบสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ควรเพิ่มบทบาทใน 2 ด้าน คือ บทบาทในการให้สินเชื่อระดับรากหญ้า และบทบาทในการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ต้องเพิ่มบทบาทในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น

    "แผนปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐระยะที่ 2 นั้น เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากแผนปฏิรูประยะที่ 1 ที่ได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือน มิ.ย.2556 โดยเบื้องต้น สศค.มีแนวคิดให้มีการควบคุมดูแลการทำหน้าที่ดังกล่าวผ่านคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ" นายสมชัยกล่าว

NEWS & TRENDS