SMES อ่วมลูกค้าไม่มั่นใจหนีซบประเทศคู่แข่ง

อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทย อ่วมพิษการเมือง ลูกค้าหนีไปซื้อสินค้าจากคู่แข่ง เหตุไม่มั่นใจส่งสินค้าได้ตามกำหนด หอการค้าประเมิน หากเหตุวุ่นวายยืดเยื้อเกินไตรมาส 2 จีดีพีไทยเหลือแค่ 2% ส่งออกทรุดตาม โตต่ำกว่าเป้าแน่ ส่วนดัชนีอุตสาหกรรม ส่ออาการไม่ดี ปี’56 เดี้ยงไปแล้ว ปี’57 ยังต้องลุ้นสถานการณ์ภายในประเทศ


อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทย อ่วมพิษการเมือง ลูกค้าหนีไปซื้อสินค้าจากคู่แข่ง เหตุไม่มั่นใจส่งสินค้าได้ตามกำหนด หอการค้าประเมิน หากเหตุวุ่นวายยืดเยื้อเกินไตรมาส 2 จีดีพีไทยเหลือแค่ 2% ส่งออกทรุดตาม โตต่ำกว่าเป้าแน่ ส่วนดัชนีอุตสาหกรรม ส่ออาการไม่ดี ปี’56 เดี้ยงไปแล้ว ปี’57 ยังต้องลุ้นสถานการณ์ภายในประเทศ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยอมรับว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะต้องเเข่งขันกับประเทศในอาเซียนถึง 30% ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าลดคำสั่งซื้อเพื่อไปซื้อสินค้าในประเทศคู่แข่ง เพราะปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้

ประกอบการไทยไม่สามารถกำหนดวันส่งสินค้าได้อย่างชัดเจน เพราะส่วนใหญ่ติดปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการด้านเอกสารกับหน่วยงานราชการ แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะยังยืนยันว่าเชื่อมั่นในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยก็ตาม และหากสถานการณ์ การเมืองยืดเยื้อจะส่งผลกระทบมากขึ้น เพราะคู่ค้าจะขาดความเชื่อมั่นที่จะทำการค้ากับไทย และมีปัญหาด้านการลงนามการค้ากับประเทศในอาเซียน

“สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ หากสถานการณ์จบได้ในไตรมาสที่ 1 คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 3% การส่งออกจะขยายตัว 3.8% แต่ถ้าหากการเมืองยืดเยื้อเกินไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ก็จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยและการส่งออก จะต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้จีดีพีให้ลดต่ำลงน้อยกว่า 3% แน่นอน” นายอัทธ์ กล่าว

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/56 หดตัว 7.1% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 62.20% เป็นผลจากการส่งออกที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการในประเทศลดลง ประกอบกับฐานที่สูงในปีที่แล้ว

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนธันวาคม หดตัวลดลง 6.1% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 60.14% โดยภาพรวมสิ้นสุดของปี 2556 หดตัวลง 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.38% เป็นผลมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

“ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2556 ว่า หดตัวลง 3.2% โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.38% ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2556 หดตัวลง 6.1% เป็นผลมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ทำให้ปี 2556 ดัชนีผลิตอุตสาหกรรม ติดลบ 3.2%”

นายสมชายกล่าวว่า ในปี 2557 ว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 3-4% ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า สถานการณ์การเมืองยุติลงได้ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ไป ซึ่งจะกระทบทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 0.4% และเมื่อรวมผลกระทบจากการชะลอการลงทุนภาครัฐสะดุดกระทบการลงทุนภาคเอกชนอีก 0.6% ทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ จะหดตัวลงร้อยละ 1.1 ทำให้มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมหายไปประมาณ 50,000 ล้านบาท จากมูลค่าภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 4 ล้านล้านบาท ขณะที่ MPI ปีนี้ คาดว่า จะขยายตัว 1.5-2.5% เชื่อว่า นักลงทุนโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งจะยังคงใช้ไทยเป็นฮับในการลงทุนในภูมิภาคนี้ต่อไป เพราะจากผลการสำรวจของเจโทรระบุว่า ประเทศไทยยังได้เปรียบประเทศอื่นในภูมิภาคนี้

“ปี 2557 ภาคอุตสาหกรรมจะมีการขยายตัวขึ้นมาจากปัจจัยสนับสนุนของการทยอยปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป รวมทั้งหากรัฐสามารถดำเนินการตามแผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาทที่วางไว้ และอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับฐานสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัด โดยราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญในตลาดโลก อาทิ น้ำตาล ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร อีกทั้งภาครัฐเบิกจ่ายเงินต่ำกว่าที่คาดไว้จะส่งผลทำให้ผลบวกต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนล่าช้าออกไป รวมทั้งประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มที่สร้างเศรษฐกิจจากแรงงานราคาถูก ส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อใช้แรงงานของตนเอง การผลิตสินค้ายังไม่ตอบสนองความต้องการตลาดโลก ผลิตสินค้าประเภทเทคโนโลยีต่ำ สินค้ารูปแบบเดิมๆ และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว” นายสมชายกล่าว

นายสมชาย กล่าวว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะกระทบมากสำหรับกลุ่มการผลิตที่มีฐานการบริโภคในประเทศเช่นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ส่วนหนึ่งพึ่งตลาดนักท่องเที่ยว รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เซรามิก ซีเมนต์ แต่กลุ่มเหล่านี้มีน้ำหนักในการผลิตรวมน้อย การผลิตส่วนใหญ่ของไทยเป็นไปเพื่อส่งออก ดังนั้นทางการเมืองจะกระทบกับการผลิตอุตสาหกรรมน้อยกว่าเศรษฐกิจโลก

 

NEWS & TRENDS