ทีดีอาร์ไอคาดปี 57 ป.ตรีตกงานกว่า 4 แสนคน

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทยในปี 2557 จากภาพรวมโครงสร้างการจ้างงานยังคงมีปัญหา ทั้งการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการว่างงาน โดยเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีต้องปรับตัวมากและเร็วขึ้น โดยการชะลอการจ้างงานใหม่ จำกัดการจ้างงาน หรือใช้แรงงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงไตรมาส 2 ปี 2557 โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีที่มีปัญหาการว่างงานสะสมต่อเนื่องในทุกปี

 




นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทยในปี 2557 จากภาพรวมโครงสร้างการจ้างงานยังคงมีปัญหา ทั้งการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการว่างงาน โดยเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีต้องปรับตัวมากและเร็วขึ้น โดยการชะลอการจ้างงานใหม่ จำกัดการจ้างงาน หรือใช้แรงงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงไตรมาส 2 ปี 2557 โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีที่มีปัญหาการว่างงานสะสมต่อเนื่องในทุกปี

"ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 จนถึงปี 2558 ผลกระทบจากปัจจัยการเมืองจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น และหากจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 4% จะส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 1% จากเดิม 0.7-0.8% โดยจะทำให้นักลงทุนชะลอหรือตัดสินใจไม่ลงทุนใหม่ จนถึงย้ายการลงทุนไปประเทศ หรือย้ายฐานการผลิตเร็วขึ้น ซึ่งตรงนี้จะกระทบกับแรงงานมากพอสมควร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรองรับแรงงานมากกว่า 3-4 แสนคน" นายยงยุทธ กล่าว
 
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีเครือข่ายหรือฐานการผลิตในหลายประเทศ และสามารถใช้เครือข่ายทางการตลาดส่งสินค้าไปยังที่ที่มีความต้องการผลผลิตอยู่ ดังนั้น อาจจะเป็นผลดีในส่วนของแรงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปอีกอุตสาหกรรมที่ยังมีความต้องการแรงงานอยู่" นายยงยุทธ กล่าว

นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า ภาคบริการ ซึ่งสามารถดูดซับแรงงานได้หลายสาขา แต่ก็มีความอ่อนไหวมากกับสถานการณ์ความมั่นคงของรัฐบาล จึงถูกกระทบเร็ว และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อผลกระทบจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และกระทบต่อแรงงานในภาคบริการ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงอาชีพที่อยู่นอกระบบที่หารายได้เสริมจากงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น การค้าขายต่างๆ สปา นวดแผนไทย ซึ่งมีลักษณะการเคลื่อนย้ายมาทำงานตามฤดูกาลเพื่อเป็นรายได้เสริม

ที่มา : ไทยโพสต์

NEWS & TRENDS