กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยกลยุทธ์การพัฒนา SMEs และ OTOP ของไทย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่ตั้งเป้ายกระดับ GDP ของ SMEs จากสัดส่วนร้อยละ 37 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 40 ของ GDP หวังเทียบชั้น GDP ของ SMEs ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยได้นำเอา 4 ยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้สามารถสร้างความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจได้อย่างบูรณาการประกอบด้วย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยกลยุทธ์การพัฒนา SMEs และ OTOP ของไทย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่ตั้งเป้ายกระดับ GDP ของ SMEs จากสัดส่วนร้อยละ 37 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 40 ของ GDP หวังเทียบชั้น GDP ของ SMEs ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยได้นำเอา 4 ยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้สามารถสร้างความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจได้อย่างบูรณาการประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งด้านการสร้างที่ปรึกษาและพัฒนาหน่วยงานให้บริการ การให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น การบริการข้อมูล และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน รวมถึงการให้บริการทดสอบให้กับผู้ประกอบการ SMEs
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิม โดยโครงการ ที่พัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ หรือ NEC เป็นโครงการ
ที่พัฒนาและสร้างผู้ประกอบการใหม่ ให้กับนักศึกษาจบใหม่ บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะได้รับความรู้ในการดำเนินธุรกิจรอบด้านจนสามารถจัดตั้งธุรกิจได้ รวมทั้งสามารถเขียนแผนธุรกิจของตัวเอง เพื่อเสนอให้กับสถาบันการเงินสำหรับการขอรับเงินทุนสนับสนุน ในขณะที่การพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิม ได้แก่ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาองค์กรธุรกิจ โดยการพัฒนาตัวโรงงาน และธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีศักยภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร พัฒนากระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบเทคโนโลยีและการใช้ IT เพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพในการผลิต โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม ในลักษณะ Cluster
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาให้ผู้ประกอบการและสินค้าสามารถแข่งขันในเวทีสากลและเวทีอาเซียนได้ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่านโครงการและหน่วยงาน ภายใต้ กรมฯ ที่กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ในรูปแบบการจัดอบรมสัมมนา ให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงการนำผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงธุรกิจกับนักลงทุนต่างชาติโดยการพาผู้ประกอบการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ และการจับคู่ธุรกิจกับนักลงทุนเพื่อนบ้านเพื่อการต่อยอดธุรกิจต่อไป