จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำนักท่องเที่ยวหาย 1.7 ล้าน

ท่องเที่ยวขอร้องรัฐบาลประกาศเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มั่นใจความปลอดภัย เตรียมแผนงานหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดจีน ส่วนการเมืองหากยืดเยื้อกระทบไตรมาส 1-2 นักท่องเที่ยวหาย 1.7 ล้านคน

 


ท่องเที่ยวขอร้องรัฐบาลประกาศเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มั่นใจความปลอดภัย เตรียมแผนงานหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดจีน ส่วนการเมืองหากยืดเยื้อกระทบไตรมาส 1-2 นักท่องเที่ยวหาย 1.7 ล้านคน

นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ส่งผลกระทบไม่เกิน 1% และจะไม่มีการปรับลดตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่จะมีการปรับแผนงานในส่วนของตลาดที่หายไป เช่นตลาดจีน โดยจะหาตลาดอื่นมาทดแทน ส่วนที่มีความกังวลคงเป็นการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลในความปลอดภัย
“ได้สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำแผนงานที่จะต้องเพิ่มตลาดใหม่ ที่ไหนบ้างเพื่อทดแทนตลาดที่หายไป ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นตลาดยุโรปเสริมทัพเข้ามา เพื่อกระตุ้นรายได้ในปี 2558 ตามเป้าหมายที่วางไว้ 2.2 ล้านล้าน ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองหากมีความยืดเยื้อจะทำให้ไตรมาส 1-2/57 นักท่องเที่ยว หาย 1.7 ล้านคน ส่วนรายได้ที่หายไป 82,000 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาในประเทศ เกิดความวิตกกังวล และเชื่อว่าหากเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเหมือนเดิม” นายธวัชชัยกล่าว

ทั้งนี้ ได้ประสานกับสื่อต่างประเทศทั่วโลกเชิญให้มาดูสถานการณ์ภาพรวมในประเทศว่าขณะนี้สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ รวมถึงได้เตรียมแผนงานกระตุ้นหลังจากเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ โดยจะเชิญนักดนตรีที่มีชื่อเสียงมาแสดงคอนเสิร์ต

ด้าน นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า นักท่องเที่ยวเริ่มมีความไม่แน่ใจ และกังวลความปลอดภัย ส่งผลให้ยอดการจองล่วงหน้าสำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ค่อนข้างช้า  โดยเชื่อว่าไตรมาส 2 จะมีแนวโน้มลดลงจากที่เคยประเมินไว้ถึง 10% พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว

“สิ่งที่ภาคเอกชนมีความเป็นห่วง คือ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความกังวลในส่วนนี้มาก  จึงอยากรบกวนให้รัฐบาลช่วยพิจารณาในส่วนนี้ด้วย ขอให้ยกเลิกโดยเร็ว ส่วนผลกระทบหลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามา เท่าที่ทราบ พ.ร.ก.หากหมดอายุ 30 วัน สามารถขยายเวลาได้ หากมีการต่อเวลาจะกระทบอย่างมาก  และทำให้นักท่องเที่ยวคิดว่าไม่มีความปลอดภัยและขาดความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยว” นางปิยะมานกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย (อินบาวด์) หลายรายเข้ามาร้องเรียนกับสมาคมฯ กรณีโรงแรมไม่คืนเงินค่ามัดจำล่วงหน้า หลังจากนักท่องเที่ยวยกเลิกห้องพัก เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลให้บริษัททัวร์ขนาดเล็กประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ

“ยอมรับว่าการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการเป็นทอดๆ  เช่น เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว โรงแรมก็ได้รับผลกระทบเป็นธุรกิจแรกๆ ซึ่งบางโรงแรมอาจคืนเงินวางมัดจำให้ แต่ต้องอาศัยระยะเวลา หรือบางโรงแรมจะแนะนำให้หากลุ่มทัวร์ใหม่มาแทนที่ ซึ่งผู้ประกอบการนำเที่ยวก็ไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองว่าจะจบลงเร็วหรือไม่ เพราะปัจจุบันสิ่งที่พบคือนักท่องเที่ยวยังยกเลิกทัวร์อยู่เรื่อยๆ".
 
ที่มา : ไทยโพสต์

NEWS & TRENDS