ธนาคารโลกวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 57 อาการหนัก

ธนาคารโลกเปิดบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ชี้ปี57 อาการน่าเป็นห่วง เพราะสุญญากาศทางการเมือง กระทบการลงทุนภาครัฐ ลากการลงทุนภาคเอกชนเหี่ยว ทำการบริโภคภาคเรือนลดต่ำลงด้วย ส่วนการส่งออกก็ไม่ไดรับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกตอนนี้ ขณะที่การท่องเที่ยวก็เติบโตลดต่ำลง เผยหากการเมืองยังหาทางออกไม่ได้ จีดีพี อาจโตต่ำกว่า 4 %

 


ธนาคารโลกเปิดบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ชี้ปี57 อาการน่าเป็นห่วง เพราะสุญญากาศทางการเมือง กระทบการลงทุนภาครัฐ ลากการลงทุนภาคเอกชนเหี่ยว ทำการบริโภคภาคเรือนลดต่ำลงด้วย ส่วนการส่งออกก็ไม่ไดรับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกตอนนี้  ขณะที่การท่องเที่ยวก็เติบโตลดต่ำลง เผยหากการเมืองยังหาทางออกไม่ได้ จีดีพี อาจโตต่ำกว่า 4 %

นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 4 % ซึ่งได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2 % ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ 6 % จากปีก่อนที่ติดลบ 0.4 % โดยธนาคารโลกยังคงติดตามปัจจัยเสี่ยง คือการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อจนกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังเป็นรัฐบาลรักษาการอีกนานและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ก็จะกระทบต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนใหม่ให้สะดุดลงและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจก็อาจจะปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์

“ปัจจัยการเมืองถือเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้ยาก ดังนั้นธนาคารโลกก็จะติดตามต่อไปเพื่อปรับข้อมูลประมาณการในระยะต่อไป แต่เชื่อว่าโอกาสที่ไทยจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีต่ำมาก แม้ว่าจะเกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองก็ตาม”  

ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ขยายตัวเพียง 3 % โดยในไตรมาส 4 เติบโตเพียง 1.3 %   ขณะที่การส่งออก การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐชะลอลง ซึ่งมีผลมาจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง แม้จะไม่ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค แต่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวให้ชะลอตัวลง ทำให้

การขยายตัวของการท่องเที่ยวในปีนี้จะโตได้แค่ 10 % จากปีก่อนที่โตถึง 20 %

นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของนโยบายของภาครัฐ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการภาครัฐ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาในระยะยาวน้อยลง ส่งผลให้การลงทุนรวมของปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4.2 % ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตได้ 5 % ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังมองประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนเพราะมีระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานอย่างดี ทำให้การลงทุนต่างชาติยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สะท้อนจากตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอที่ยังอยู่ในระดับสูง 

อย่างไรก็ตามการบริโภคยังคงอ่อนแอ ทั้งจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การบริโภคในประเทศโดยรวมขยายตัวแค่ 2.1 % โดยการบริโภคภาคเอกชนโตเพียงแค่ 1.8 % ขณะที่การบริโภคภาครัฐขยายตัวได้ 3.5 %

นางสาวกิริฎา ยังกล่าวอีกว่า แม้ภาคส่งออกจะเป็นตัวผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยขยายตัว 6 % หรือมีมูลค่า 208,920 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่ได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินของโลก สาเหตุเพราะไทยผลิตสินค้าที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์  ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว ประมาณ 5 % มีมูลค่า 229,994 ล้านเรียญสหรัฐ ดุลการค้าเกินดุลประมาณ 2.3 % ของจีดีพี หรือเกินดุลประมาณ 8,927 ล้านเหรียญสหรัฐ  ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากปี 2556 โดยขาดดุลเพียง 1,073 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขาดดุล 0.3 % ของจีดีพี

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าหอการค้าไทยคาดการณ์ว่าผลจากการเมืองที่ยังไม่ทราบว่าจะจบอย่างไร จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชน โดยจากภาพรวมเชื่อว่า เศรษฐกิจในปีต่อไปจะโตได้เพียง 3-4 %  จากที่คาดว่าหากไม่มีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบก็จะสามารถเติบโตได้เกินกว่า 5 %

ที่มา : แนวหน้า

 

NEWS & TRENDS