TMB Analytics วิเคราะเศรษฐกิจไทยปี 56 โต 2.9%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 2.9 ... ไตรมาสสี่หมดแรงส่ง ตัวเลขบวกอ่อนๆ ... จับตารายงานสภาพัฒน์ฯ วันจันทร์ 17 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

 


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 2.9 ... ไตรมาสสี่หมดแรงส่ง ตัวเลขบวกอ่อนๆ ... จับตารายงานสภาพัฒน์ฯ วันจันทร์ 17 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

ยังคงเป็นที่เฝ้ารอของหลายฝ่าย สำหรับรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 4/2556 ซึ่งนอกจากจะเป็นไตรมาสแรกที่จะเห็นผลกระทบของการชุมนุมทางการเมืองแล้ว ยังเป็นข้อมูลชุดสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน จะใช้ในการตัดสินใจว่าจะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยก่อนหน้านี้สำนักวิจัยล้วนประเมินว่าตัวเลขจีดีพีดังกล่าวจะออกมาไม่สวยหรูแต่มีมุมมองที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่คาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 4/2555 หรืออาจจะมีการขยายตัวที่ร้อยละศูนย์ (ไม่ขยายตัว) ไปถึงขั้นหดตัวจากปีก่อนหน้า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว น่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงมามากจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาส 3/2556 เนื่องจากหมดแรงส่ง ไม่ว่าจะทางด้านการบริโภคภาคเอกชนที่โดนกดดันจากสภาวะหนี้ครัวเรือนและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทางด้านการลงทุนของภาคธุรกิจที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโดยรวม หรือกระทั่งการใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องสะดุดจากการยุบสภาในช่วงปลายปี

ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงให้มุมมองสำหรับจีดีพีปี 2556 ไว้ว่าจะออกมาไม่ค่อยสวย โดยคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.9 (ปรับประมาณการครั้งล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2556) ซึ่งลดลงมากว่าครึ่งจากระดับร้อยละ 6.5 ในปีก่อนหน้า ตอกย้ำภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

ภาคส่วนที่ดูแล้วยังมีความน่ากังวลอยู่มากก็คือ การลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่าหนึ่งในห้าของจีดีพี โดยเมกะโปรเจกต์ภาคขนส่ง 2 ล้านล้านบาทของภาครัฐนั้นมีอันต้องสะดุด ส่วนภาคเอกชนก็ยังรอดูท่าทีให้สถานการณ์การเมืองชัดเจนจึงจะค่อยตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม ดังจะเห็นได้จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลามไปถึงตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลงในช่วงไตรมาสสี่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงการที่สินเชื่อส่วนใหญ่นั้นจัดเป็นการกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน บ่งชี้สภาพคล่องของธุรกิจที่ตึงตัวขึ้น
        
การวิเคราะห์ของศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังพบอีกว่า หากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ออกมาตามคาด การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ใกล้กับระดับศักยภาพ พูดง่ายๆ คือ จีดีพียังสามารถขยายตัวไปได้ตามปัจจัยพื้นฐานแต่เมื่อมองในระยะถัดไป กลับพบแต่ความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราการขยายของเศรษฐกิจ หลุดจากระดับศักยภาพ ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่น่ากังวลในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ปัญหาการเมืองไทยยังดูไม่มีทางออกชัดเจน และยังมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกพักใหญ่
 

NEWS & TRENDS