ปัจจัยลบเพียบกดดัชนีอุตฯต่ำสุดรอบ 55 เดือน

ส.อ.ท.เผย ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ร่วงลงติดต่อกัน 55 เดือน พิษการเมืองฉุดความเชื่อมั่นผู้ประกอบการดิ่งเหว ระบุปัญหาจำนำข้าวฉุดยอดซื้อต่างจังหวัดลดฮวบ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรการเกษตร อุปโภคบริโภค

 


ส.อ.ท.เผย ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ร่วงลงติดต่อกัน 55 เดือน พิษการเมืองฉุดความเชื่อมั่นผู้ประกอบการดิ่งเหว ระบุปัญหาจำนำข้าวฉุดยอดซื้อต่างจังหวัดลดฮวบ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรการเกษตร อุปโภคบริโภค  

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ว่าดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยในเดือน ม.ค.2557 อยู่ที่ระดับ 86.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.3 ในเดือน ธ.ค.2556 ถือได้ว่าเป็นดัชนีฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 55 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552 ที่เป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2555 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

"ค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงสาเหตุจากความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง  และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการปรับแผนการดำเนินกิจการ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ยืดเยื้อย่อมส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวลดลงกระทบต่อสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมทั้งผู้ส่งออกเริ่มกังวลว่าผู้นำเข้าสินค้าไทยจะหันไปนำเข้าจากผู้ผลิตในประเทศอื่นแทนจึงเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศโดยเร็ว

    ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือน ธ.ค.2556 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาคพบว่า ทุกภาคปรับตัวลดลง นอกจากมีผลมาจากการเมืองที่ยืดเยื้อ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แล้วยังเป็นผลมาจากรายได้ของเกษตรกรลดลง เพราะไม่ได้รับเงินจำนำข้าวจากรัฐบาล ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่างๆ รถไถนา มียอดขายลดลง    "สถานการณ์ที่ยืดเยื้อส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว กระทบต่อยอดขาย สภาพคล่องในการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกระทบต่อผู้ส่งออกให้เริ่มกังวลว่าผู้นำเข้าสินค้าไทยจะหันไปนำเข้าจากผู้ผลิตในประเทศอื่นแทนจึงเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศโดยเร็ว เพื่อความสงบสุขและเรียกความเชื่อมั่นลงทุนประเทศกลับมา" นายพยุงศักดิ์กล่าว 

นอกจากนี้ จะต้องจับตาปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงในปี 2557 นี้ ซึ่งจะทำให้รายได้จากภาคการเกษตรลดลง ส่งผลให้เป็นการซ้ำเติมต่อภาวะกำลังซื้อภายในประเทศให้ลดลงมากขึ้นอีก รวมทั้งยังอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ยุติโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้งขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสร้างความมั่นใจกับประเทศผู้นำเข้าสินค้าไทย ว่า ผู้ส่งออกไทยสามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลา รวมถึงให้สถาบันการเงินของรัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าผู้ผลิตพบผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

ที่มา : ไทยโพสต์

 

NEWS & TRENDS