EIC วิเคราะห์ส่งออกไทยหดตัวหนักน้อยสุดรอบ 2 ปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ออกบทวิเคราะห์ "ส่งออกไทยหดตัว จากรถยนต์และส่วนประกอบเป็นหลัก"

 


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC  ออกบทวิเคราะห์ "ส่งออกไทยหดตัว จากรถยนต์และส่วนประกอบเป็นหลัก"

Event         กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมกราคมอยู่ที่ 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 2.0%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 15.5% ดุลการค้าขาดดุล 2,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Analysis         การส่งออกไทยยังอ่อนแอ การส่งออกไทยกลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ในเดือนธันวาคมปี 2013 ที่ผ่านมา นอกจากนี้หากไม่นับมูลค่าการส่งออกในเดือนเมษายนซึ่งได้รับผลกระทบตามฤดูกาลแล้ว มูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคมปี 2014 เป็นมูลค่าการส่งออกที่น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี

การส่งออกไปยังอาเซียนหดตัวค่อนข้างมาก การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 9 ประเทศหดตัวราว 5% ในเดือนมกราคม และยังมีมูลค่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2012 โดยการส่งออกไปยังอินโดนีเซีย และสิงคโปร์หดตัวในระดับสูงถึง 20.2% และ 18.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ ต่างขยายตัวได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเพียง 0.4% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผ่านมายังความต้องการของสินค้าไทยไม่มากนัก  

การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบหดตัวอย่างรุนแรงติดต่อกัน การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบซึ่งเป็น 1 ใน 3 สินค้าหลักของไทยหดตัวถึง 17.1% และเป็นการหดตัวในระดับสูงสองเดือนติดต่อกัน โดยการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกและรถบัส ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบรวมราว 68% หดตัวมากกว่า 20% โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักอันได้แก่ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย หดตัวมากกว่า 30% อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบซึ่งเป็นอีก 2 หมวดสินค้าหลักขยายตัวได้ในระดับดี โดยการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถกลับมาขยายตัวได้สูงราว 7.8%
        
การนำเข้าหดตัวอย่างรุนแรงจากผลของฐานสูงในหมวดการนำเข้าส่วนประกอบรถยนต์ และการชะลอการลงทุน การนำเข้าหดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และหดตัวในอัตราที่สูงขึ้น จากผลของการเร่งนำเข้าส่วนประกอบรถยนต์ในปีก่อนหน้า โดยการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์หดตัวสูงถึง 27.8% นอกจากนี้การบริโภคในประเทศและการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้การลงทุนชะลอลง ส่งผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและส่วนประกอบลดลงอย่างต่อเนื่อง
        
ดุลการค้าขาดดุล 2,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกที่อ่อนแอทำให้ดุลการค้าขาดดุลค่อนข้างมากแม้ว่าการนำเข้าจะลดลงมากก็ตาม  

  Implication         จับตาดูการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบในปี 2014 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากการที่ผู้ผลิตหันมาเน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทดแทนอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ออกมาในช่วง 2 เดือนหลังสุดกลับหดตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งหากการส่งออกรถยนต์ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมประมาณ 10% ยังคงมีแนวโน้มเช่นนี้ จะเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกโดยรวมของไทยขยายตัวได้ไม่สูงนักในปีนี้

 

NEWS & TRENDS