5 ปีข้างหน้าไทยต้องการแรงงานพุ่ง 40 ล้านคนต่อปี

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กลุ่มงานวิจัยและวางแผนกำลังแรงงาน ว่าการคาดประมาณแนวโน้มความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2557 - 2561 พบว่า มีจำนวนความต้องการแรงงานโดยรวมหรือการจ้างงานรวมทั่วประเทศใน 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ย 40,473,48..


    
    นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กลุ่มงานวิจัยและวางแผนกำลังแรงงาน ว่าการคาดประมาณแนวโน้มความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2557 - 2561 พบว่า มีจำนวนความต้องการแรงงานโดยรวมหรือการจ้างงานรวมทั่วประเทศใน 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ย 40,473,484 คนต่อปี 

    โดยเป็นความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มรวมเฉลี่ย 995,514 คนต่อปี เป็นความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มเพื่อขยายตำแหน่งงานจำนวนเฉลี่ย 268,287 คนต่อปี และความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มทดแทนแรงงานเก่าที่ออกไปจำนวนเฉลี่ย 727,227 คนต่อปี

    ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลความต้องการและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งดำเนินการสำรวจสถานประกอบการใน 28 ประเภทกิจการ ทั่วประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างจากสถานประกอบการที่มีรายชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ (ยกเว้นสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ) จำนวน 35,107 แห่ง โดยผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

     สถานประกอบการมีความต้องการแรงงาน รวมทั้งสิ้น 435,126 อัตรา (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2556) ซึ่งประเภทกิจการที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดได้แก่ กิจการค้าส่ง ค้าปลีก มีความต้องการแรงงาน จำนวน 239,185 อัตรา (ร้อยละ 54.97 ของความต้องการแรงงานทั้งหมด) รองลงมาได้แก่ กิจการยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 41,767 คน (ร้อยละ 9.60) และกิจการก่อสร้าง จำนวน 22,885 อัตรา (ร้อยละ 5.26) ระดับการศึกษาที่สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานมากที่สุดได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 111,573 อัตรา (ร้อยละ 25.64) รองลงมาได้แก่ ระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 105,142 อัตรา (ร้อยละ 24.16) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 77,851 อัตรา(ร้อยละ 17.89) ตามลำดับ

    ระดับทักษะฝีมือที่สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ แรงงานมีฝีมือจำนวน 184,135 อัตรา (ร้อยละ 42.32) รองลงมาได้แก่ แรงงานกึ่งฝีมือ จำนวน 152,388 อัตรา (ร้อยละ 35.03) และแรงงานไร้ฝีมือ จำนวน 60,175 อัตรา (ร้อยละ 13.83) ตามลำดับ 

    สถานประกอบการมีการขาดแคลนแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 276,493 อัตรา ประเภทกิจการที่มีการขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือ กิจการค้าส่ง ค้าปลีก จำนวน 181,394 อัตรา (ร้อยละ 65.61) รองลงมาได้แก่ กิจการโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 9,281 อัตรา (ร้อยละ 3.36) และกิจการก่อสร้าง จำนวน 8,039 อัตรา (ร้อยละ 2.91) ตามลำดับ

     ระดับการศึกษาที่มีการขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุด จำนวน 65,183 อัตรา รองลงมาได้แก่ ระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 64,625 อัตรา และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 49,198 อัตรา ตามลำดับ

     ระดับทักษะฝีมือ ที่มีการขาดแคลนมากที่สุด คือแรงงานมีฝีมือ จำนวน 124,100 อัตรา รองลงมาได้แก่ แรงงานกึ่งฝีมือ จำนวน 102,003 อัตรา และแรงงานไร้ฝีมือ จำนวน 32,981 อัตรา ตามลำดับ

     ในส่วนของตำแหน่งงาน ที่มีการขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือ ตำแหน่งพนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้า จำนวน 51,892 อัตรา รองลงมาได้แก่ ตำแหน่งช่างไม้ทั่วไป จำนวน 50,396 อัตรา และตำแหน่งช่างซ่อมและปรับแต่งเครื่องจักรกลทั่วไป จำนวน 36,354 อัตรา

 

NEWS & TRENDS