กสอ.เร่งพัฒนาแรงงานรับมือวิกฤตขาดแคลนนำร่องอุตฯเครื่องหนัง

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กสอ.เร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม รับมือการขาดแคลนแรงงานในอนาคตจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC) จึงจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา ควรสร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู..


               
    ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กสอ.เร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม รับมือการขาดแคลนแรงงานในอนาคตจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC) จึงจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา ควรสร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมรายสาขาต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การออกแบบ และการนำความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง 

    ทั้งนี้ กสอ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรมาอย่างต่อเนื่อง เพราะบุคลากรที่มีคุณภาพย่อมเป็นรากฐานสำคัญต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า นับเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่อุตสาหกรรมฟอกหนังของไทย   ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่นำไปสู่การแปรรูปหนังเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลาย อาทิ เครื่องหนัง กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เบาะรถยนต์ ของเล่น และแคปซูนบรรจุยา ฯลฯ ยังคงมีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค 

    ปัจจุบันมีโรงงานฟอกหนังประมาณ 180 แห่ง สามารถผลิตหนังฟอกได้ประมาณ 15,000 ตันต่อปี มีแรงงานประมาณ 8,000 คน  ซึ่งปัญหาประการหนึ่งคือด้านการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือทั้งบุคลากร และนักออกแบบที่มีคุณภาพ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิต กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ในการเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมฟอกหนัง 

    โดย กสอ. มีบทบาทในการสนับสนุนและประสานงานระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังกับสถานศึกษา ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ทำหน้าที่เป็นสถานปฏิบัติงานให้แก่นักศึกษา และรับนักศึกษาเข้าทำงานเมื่อจบการศึกษา ส่วนวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการทำหน้าที่ในการผลิตบุคลากรจากสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมฟอกหนัง โดยผู้เรียนจะได้เรียนเชิงทฤษฎีประมาณ 2 วัน และฝึกงานในโรงงาน 3 วัน  

      ทั้งนี้ นักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานในโรงงานต่าง ๆ เมื่อจบการศึกษาแล้วการันตีได้ว่าจะมีงานรองรับอย่างแน่นอน โดยตั้งเป้าผลิตบุคลากรได้ปีละไม่ต่ำกว่า 50 คน
    
    สำหรับผู้ประกอบการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 ส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเรือน และสวนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง โทรศัพท์ 0 2367 8288 และ 0 2367 8253 หรือเข้าไปที่ http://bisd.dip.go.th/ หรือต้องการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมฯ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414 - 18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
 

NEWS & TRENDS