SMEs ชะลอกู้ยืมกดดันแบงก์พาณิชย์งัดกลยุทธ์รับมือ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการชะลอของการเติบโตของสินเชื่อทั้งจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ยังคงเพิ่มความท้าทายต่อการบริหารจัดการอัตราส่วน NIM***



    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการชะลอของการเติบโตของสินเชื่อทั้งจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ยังคงเพิ่มความท้าทายต่อการบริหารจัดการอัตราส่วน NIM*** 
    
    จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังไม่มีสัญญาณว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นหรือไม่ กอปรกับความไม่ชัดเจนของทิศทางการเมืองไทย ก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อลดลงเนื่องจากอาจชะลอการลงทุนต่างๆออกไป ขณะที่ ลูกค้ารายย่อยก็มีความต้องการสินเชื่อลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความระมัดระวังในการก่อหนี้มากขึ้น จากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว 

    ดังนั้น การชะลอตัวของสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม (SMEs)  ซึ่งปกติเป็นสินเชื่อที่ธนาคารให้ความสำคัญในการเติบโตเนื่องจากมีผลตอบแทน (Yield) สูง ก็อาจทำให้โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไป และกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องหากลยุทธ์อื่นๆมาเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้สามารถรักษาอัตราส่วน NIM ในระดับเดิมได้ เช่น หันไปให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนทางการเงินโดยเฉพาะต้นทุนเงินฝากให้มากขึ้น 

    ทั้งนี้ ในการควบคุมต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะเงินฝากนั้น ธนาคารพาณิชย์คงต้องพิจารณาประกอบกับระดับของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม การสะสมสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น (ณ สิ้นเดือน ก.พ.57 อยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท) หรือ เงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิ (ณ สิ้นเดือน ก.พ.57 อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนต่ำกว่าสินเชื่อ ไว้ในระดับที่สูงเกินไปในภาวะที่สินเชื่อชะลอตัว ก็อาจส่งผลให้อัตราส่วน NIM ปรับลดลงได้เช่นเดียวกัน 

    จะเห็นได้ว่า ในภาวะที่สินเชื่อชะลอตัว การบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและสภาพคล่อง คงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ในการที่จะรักษาระดับของอัตราส่วน NIM

***Nim = Net interest margin = ส่วนต่างของอัตราสินเชื่อ

NEWS & TRENDS